ThaiBMA เผย Q1/62 เอกชนแห่ออกตราสารหนี้ระยะยาวล็อคต้นทุนดอกเบี้ย-ต่างชาติลดการถือครอง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 9, 2019 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ในไตรมาสแรก ของปี 62 โดยรวมยังคงเติบโตได้ดี มีมูลค่าคงค้างรวม 12.96 ล้านล้านบาท ขยายตัวขึ้น 1.3% จาก 12.79 ล้านล้านบาทในปี 61 โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีการออกเพิ่มขึ้นถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำลายสถิติการออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไตรมาส 1 ทุกปี โดยส่วนใหญ่เป็นการออกของบริษัทขนาดใหญ่ในภาค Real Sector ที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนกลุ่มสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ (II/HNW)

แต่ในด้านการออกตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชนมีมูลค่าลดลง โดยกลุ่มธุรกิจเดียวกันได้เปลี่ยนจากการออกตั๋วบี/อีไปเป็นการกู้ยืมกันในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แทน ส่วนภาค Real sector และ Bank&Finance คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นการชะลอการออกเพื่อรอจังหวะดอกเบี้ยที่เหมาะสม หลังจากที่ต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ในภาค Real sector ที่มีอันดับเครดิตสูง ตั้งแต่ A- ขึ้นไป ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ลดลงจากผู้ออกตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตไม่สูง หรือระดับ BBB- ลงไป และ Non-rated

ด้านการลงทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ในตลาดตราสารหนี้ไตรมาส 1/62 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลอด 3 เดือนแรกรวม 42,305 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขายตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นเพื่อรับรู้ผลกำไร หลังจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่ยังมีการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว ทำให้ในไตรมาส 1/62 ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 942,993 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความชันน้อยลง โดยรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 5-12 bps. ส่วนรุ่นอายุ 2-10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 1-9 bps.

สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับเดิม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ จนถึงสิ้นปีนี้ จากปัจจัยเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวเพื่อรอดูทิศทางและประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นได้หลังเดือน มิ.ย.นี้ และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม นายธาดา กล่าวว่า การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอน โดยปีนี้มีหุ้นกู้จะครบกำหนดราว 5.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ที่จะมีการรีไฟแนนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นกู้ที่มีเครดิตดี ขณะที่ยังมีการลงทุนปกติของภาคเอกชนในการเข้าซื้อกิจการ (M&A)

สมาคมฯ ยังคงเป้าหมายการออกตราสารหนี้ระยะยาวปีนี้ไว้ที่ 7.5-8.5 แสนล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1/62 ทำได้แล้ว 2.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก Real sector มีการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 64%

ขณะที่มองการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ คาดว่าจะเห็นการถือครองลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนไม่น่าสนใจ เพราะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ทำให้ต่างชาติหันกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ และประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพราะให้ผลตอบแทนดีกว่า ซึ่งไตรมาส 1/62 ต่างชาติลดการถือครองไทยเหลือ 9.42 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ