นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือน เม.ย.62 พบว่า ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.62) อยู่ในเกณฑ์ ทรงตัว ปรับตัวลดลง 17.72% มาอยู่ที่ 107.53 จากที่เคยอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงในเดือนก่อน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนมีความกังวลเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลัก รองลงมาคือสถานการณ์เจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและจีน
FETCO ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน เม.ย.62 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.62) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 119) จาก "ร้อนแรง" โดยลดลง 17.72% มาอยู่ที่ระดับ 107.53
ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish) เช่นเดิม, ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral), ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral), ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพาณิชย์ (COMM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง และ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง
"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนพลิกกลับมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนแรก โดยทุกกลุ่มบัญชีนักลงทุนปรับตัวลดลง กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนก่อน"นายไพบูลย์ กล่าว
ในช่วงเดือน มี.ค.62 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1617-1646 จุด ปรับตัวผันผวนระหว่างเดือนตามปัจจัยทางการเมืองและข่าวการเลือกตั้งเช่นเดียวกับเดือน ก.พ.62 ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยในประเทศมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนเป็นปัจจัยหลัก โดยสถานการณ์การเลือกตั้งเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารสหรัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นในลำดับรองลงมา
ขณะเดียวกันความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือนักลงทุนมีความกังวลทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงทั้งเศรษฐกิจของจีนและเศรษฐกิจของสหรัฐ
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ การชะลอการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหภาพยุโรป (EU) การคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) การพิจารณาข้อตกลงกรณีอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิก EU (Brexit) ที่อังกฤษยื่นขอเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปอีก ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจากการยกเลิกการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ทำให้มาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. เป็นอย่างน้อย เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม