นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือน เม.ย.62 พบว่า ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.62) อยู่ในเกณฑ์ ทรงตัว ปรับตัวลดลง 17.72% มาอยู่ที่ 107.53 จากที่เคยอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงในเดือนก่อน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนมีความกังวลเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลัก รองลงมาคือสถานการณ์เจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและจีน
FETCO ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน เม.ย.62 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.62) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 119) จาก "ร้อนแรง" โดยลดลง 17.72% มาอยู่ที่ระดับ 107.53
ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish) เช่นเดิม, ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral), ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral), ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพาณิชย์ (COMM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง และ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง
"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนพลิกกลับมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนแรก โดยทุกกลุ่มบัญชีนักลงทุนปรับตัวลดลง กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนก่อน"นายไพบูลย์ กล่าว
ในช่วงเดือน มี.ค.62 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1617-1646 จุด ปรับตัวผันผวนระหว่างเดือนตามปัจจัยทางการเมืองและข่าวการเลือกตั้งเช่นเดียวกับเดือน ก.พ.62 ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยในประเทศมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนเป็นปัจจัยหลัก โดยสถานการณ์การเลือกตั้งเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารสหรัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นในลำดับรองลงมา
ขณะเดียวกันความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือนักลงทุนมีความกังวลทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงทั้งเศรษฐกิจของจีนและเศรษฐกิจของสหรัฐ
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ การชะลอการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหภาพยุโรป (EU) การคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) การพิจารณาข้อตกลงกรณีอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิก EU (Brexit) ที่อังกฤษยื่นขอเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปอีก ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจากการยกเลิกการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ทำให้มาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. เป็นอย่างน้อย เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
ประธาน FETCO ยังกล่าวอีกว่า จากข้อมูลการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) พบว่านักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิทุกตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นแค่ตลาดหุ้นไทยที่มียอดขายสุทธิ 407 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการขายสุทธิมากที่สุดในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากไม่มั่นใจกับสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งว่าจะมีเสถียรภาพการบริหารประเทศได้ต่อเนื่องหรือไม่
เนื่องจากในปีนี้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายสูงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะการชะลอตัว โดยเฉพาะความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งไทยพึ่งพาการค้าและภาคท่องเที่ยวจากจีนเป็นสัดส่วนสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ รวมถึงโฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มีความสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างชาติได้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยปลดล็อกขั้นแรกผลักดันกระแสเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ได้ประเมินผลกระทบความไม่ชัดเจนประเด็นการเมืองไว้ 3 กรณี ได้แก่ กรณีดีที่สุดคือรัฐบาลใหม่รวมเสียง ส.ส. แกนนำตั้งรัฐบาลใกล้เคียง หรือมากกว่า 300 เสียง SET INDEX จะซื้อขายบน P/E 16-17 เท่า กรอบดัชนีฯจะอยู่ที่ 1,705-1,812 จุด ,กรณีปานกลาง หรือมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือรัฐบาลใหม่รวมเสียง ส.ส. 250-260 เสียง จะซื้อขายบน P/E 15-16 เท่า กรอบดัชนีฯอยู่ที่ 1,600-1,705 จุด ,และกรณีเลวร้ายคือไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้จะซื้อขายบน P/E 14-15 เท่า กรอบดัชนีฯจะอยู่ที่ 1,492-1,600 จุด
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามปัจจัยพื้นฐานมีความเป็นไปได้เช่นกันที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนหุ้นไทยรอบใหม่ เนื่องจากดอกเบี้ยโลกมีทิศทางขาลง ตามเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป,ญี่ปุ่น รวมถึงในเอเชีย ที่มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดโลกทรงตัวระดับสูง
ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทยมากกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Earning Yield Gap) ปัจจุบันมาอยู่ที่ 4.32% สูงกว่าค่าเฉลี่ย Earning Yield Gap ย้อนหลัง 10 ปีที่ 4.28% จึงเชื่อว่าเม็ดเงินที่เคยลงทุนในตลาดพันธบัตรจะไหลกลับเข้ามาหาผลตอบแทนสูงอย่างในตลาดหุ้นไทยได้
นักวิเคราะห์ เอเซีย พลัส บอกว่า ปัจจุบันสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังต่ำมากเหลือเพียง 22.48% รวมกับการถือผ่าน NVDR 6.77% ซึ่งมองว่า underweight หุ้นไทยเกินไป หากเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น
ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศเพิ่มหลักทรัพย์ใบแสดงสิทธิประโยชน์ในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) ที่อ้างอิงหุ้นสามัญให้ชอร์ตเซลได้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ยอมรับว่าอาจจะสร้างแรงกดดันให้เกิดแรงขายในหุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่เป็นบางช่วง เชื่อว่าถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลงราคาหุ้นที่โดนช็อตเซลก็จะสามารถพลิกกลับขึ้นมาได้ตามกลไกซื้อขายปกติ และยังมองว่าไม่ได้เปิดทางเพื่อสร้างราคาเพราะเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ แต่เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้กับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลท.อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อประกาศแนวทางสร้างความเข้าใจบนหลักเกณฑ์เดิมที่เปิดทางชอร์ตเซลผ่าน NVDR ที่เริ่มไปตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา คาดมีความชัดเจนภายในเดือน เม.ย.นี้ เบื้องต้นมองว่าไม่ได้กระทบกับกลไกซื้อขายในตลาดหุ้นไทย เพราะหลังจากที่สำรวจยังมีการทำธุรกรรมเป็นปกติ แต่จะช่วยเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนพิจารณาลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ธุรกรรมดังกล่าวไม่เปิดเผยข้อมูล เพราะเป็นการทำธุรกรรรมในต่างประเทศ