บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กร ของ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ที่ระดับ "BBB+" โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุม และกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนโดยระดับหนี้สินที่สูง ความเสี่ยงจากการแทรกแซงราคาน้ำมันจากภาครัฐ และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่บริษัทมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่ครอบคลุม บริษัทมีจำนวนสถานีบริการมากเป็นอันดับ 2 รองจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสถานีบริการของบริษัทเพิ่มขึ้นสุทธิเป็นจำนวน 187 สถานีในปี 2561 ทำให้มีสถานีบริการรวมทั้งสิ้น 1,883 สถานี ณ สิ้นปี 2561
บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดค้าปลีกน้ำมันเทียบกับอดีตที่ผ่านมาที่บริษัทเน้นเปิดสถานีบริการบนถนนสายรองในต่างจังหวัดทำให้ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและในเขตเมือง ปัจจุบัน บริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นเปิดสถานีบริการน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น ทำให้บริษัทมีโอกาสในการเสนอขายสินค้าและบริการของธุรกิจอื่นนอกเหนือจากน้ำมันมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ตราสินค้าของบริษัทในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบสมาชิกเพื่อสะสมคะแนนและรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ PT Max Card โดยจำนวนสมาชิกเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 7.7 ล้านราย ณ สิ้นปี 2560 เป็น 10 ล้านราย ณ สิ้นปี 2561 รายได้จากสมาชิกคิดเป็น 70% ของปริมาณขายน้ำมันในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าระบบสมาชิก PT Max Card จะช่วยในการรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายต่อไปในอนาคต
บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดปริมาณค้าปลีกน้ำมันเติบโตขึ้นจาก 13.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 เป็น 15.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นเป็นอันดับ 2
ผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วทำให้รายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 18% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนรายได้ขึ้นมาอยู่ที่ 108,000 ล้านบาทในปี 2561 และ EBITDA เติบโตเฉลี่ยปีละ 37% ในช่วงเดียวกันจนขึ้นมาอยู่ที่ 4,400 ล้านบาทในปี 2561
บริษัทมีการเติบโตของปริมาณการขายน้ำมันที่มากกว่าตลาด ในปี 2561 บริษัทมีปริมาณการขายน้ำมันเติบโตขึ้น 16% เป็น 3.9 พันล้านลิตร ในขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำมันในภาพรวมของประเทศไทยเติบโตเพียงประมาณ 2% ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และ EBITDA ของบริษัทจะยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นจากการขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยภายใต้การประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ในช่วง 5-6 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ทริสเรทติ้งมองว่าปริมาณการบริโภคน้ำมันในประเทศอาจจะไม่เติบโตหรือโตในอัตราที่ต่ำในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ด้วยปัจจัยกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศไทย โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปริมาณการบริโภคน้ำมันเติบโตเพียงประมาณ 2% ต่อปี บริษัทได้รับผลกระทบโดยเห็นได้จากยอดขายในสถานีบริการเดิมที่ค่อนข้างคงที่ในปี 2561 ทั้งนี้ สภาวะตลาดที่ชะลอตัวลงอาจกดดันการเติบโตในสถานีบริการเดิมของบริษัทต่อไป
บริษัทยังเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เห็นได้จากผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันยังคงขยายสถานีบริการน้ำมันและจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อหวังจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังลงทุนในระดับสูงในการปรับปรุงคุณภาพของสถานีบริการและเพิ่มสินค้าบริการอื่นนอกเหนือจากน้ำมันในสถานีบริการอีกด้วย
ความเสี่ยงจากการแทรกแซงโดยภาครัฐ บริษัทมีความเสี่ยงจากการถูกแทรกแซงราคาน้ำมันโดยภาครัฐ ซึ่งอาจกดดันค่าการตลาดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันได้ เช่นในช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสั้น ๆ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันดีเซล ภาครัฐจึงมีมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นผลให้ค่าการตลาดของบริษัทได้รับผลกระทบ โดยบริษัทได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นเนื่องจากบริษัทมีปริมาณการขายน้ำมันดีเซลในสัดส่วนที่สูงอยู่ที่ประมาณ 71% ของปริมาณการขายน้ำมันรวม ด้วยเหตุนี้ทำให้ค่าการตลาดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของบริษัทปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันจะกระทบกับผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันในภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการจัดการสินค้าคงเหลือที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันลงได้
ระดับหนี้สินที่สูง อันดับเครดิตของบริษัทยังคงถูกลดทอนลงจากระดับหนี้สินที่สูง ซึ่งเป็นผลจากการกู้ยืมเงินเพื่อขยายสถานีบริการและการลงทุนจำนวนมากทั้งในธุรกิจน้ำมันและธุรกิจอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ผ่านมายังไม่ได้เพิ่มผลกำไรได้อย่างที่คาดหวัง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทลงทุนโดยเฉลี่ยปีละ 5 พันล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวถูกใช้ไปในการขยายสถานีบริการน้ำมันและการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เช่น โครงการ Palm Complex ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ เป็นต้น
บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.9 พันล้านบาทในปี 2558 เป็น 16.4 พันล้านบาทในปี 2561 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 50% ในปี 2558 เป็น 75% ในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทจะระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนทยอยลดลงจนไปอยู่ที่ประมาณ 70% ในปี 2564
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้ บริษัทมีสภาพคล่องในระดับปานกลาง โดยในปี 2561 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ 21% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 5.4 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าระหว่างปี 2562-2564 บริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 4.0-4.7 พันล้านบาทต่อปี อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ประมาณ 25% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 6 เท่า
ในปี 2562 บริษัทมีเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและหุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดชำระรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.3 พันล้านบาท โดยบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 996 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 และเงินทุนจากการดำเนินงานในอีก 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะต้องจัดหาเงินกู้เพื่อทดแทนหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระเกือบทั้งหมดเนื่องจากบริษัทจะยังคงลงทุนเพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้ง มองว่าความเสี่ยงในการหาเงินกู้ทดแทนอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ปริมาณขายน้ำมันเติบโตประมาณ 10% ต่อปีจากการขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่อง
รายได้เติบโตประมาณ 9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564
ค่าการตลาดธุรกิจน้ำมันจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 บาทต่อลิตร
เงินลงทุน 3.6-3.7 พันล้านบาทต่อปี
แนวโนมอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเอาไว้ได้ และบริษัทจะมีความระมัดระวังในการขยายธุรกิจซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 75% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่ำกว่า 4 เท่าได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในระยะเวลาอันใกล้เนื่องระดับหนี้สินที่สูง ในขณะที่อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราการก่อหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สินมากกว่าที่คาดการณ์ หรือหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง