นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 50 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 96,773 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5,050 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีรายได้รวม 91,723 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 44,489 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,552 ล้านบาท หรือร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 40,937 ล้านบาท
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 28,455 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 8.65 บาทเมื่อเทียบกับปี 2549 มีกำไรสุทธิ 28,047 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 8.55 บาท
ทั้งนี้ ปริมาณการขาย ในปี 50 ปตท.สผ. มีปริมาณการขายปิโตรเลียม เฉลี่ยวันละ 179,767 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ สูงกว่าปริมาณการขายในปี 49 ที่มีปริมาณการขายเฉลี่ยวันละ 169,348 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีปริมาณการขายเฉลี่ยในแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี จากปริมาณขายเฉลี่ยวันละ 171,170 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 1 เป็นเฉลี่ยวันละ 184,867 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 4
แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายในปี 50 ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เมื่อต้นปี 50 เฉลี่ยวันละ 187,713 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคของโรงแยกก๊าซและคอนเดนเสทของโครงการโอมาน 44 และการหยุดการผลิตน้ำมันดิบชั่วคราวจากโครงการนางนวลเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคของหลุมผลิต
สำหรับ ปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว (Proved Reserve) รวมทุกโครงการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 โดยคิดเป็นปริมาณน้ำมันดิบและคอนเดนเสทประมาณ 196 ล้านบาร์เรล และเป็นก๊าซธรรมชาติประมาณ 4,844 พันล้านลูกบาศก์ฟุต หรือรวมทั้งหมด ประมาณ 946 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
*เสี่ยงจากขาดส่งก๊าซในโครงการอาทิตย์ให้ปตท. เป็นเงิน 791 ลบ.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพัฒนาโครงการอาทิตย์ได้ล่าช้ากว่าแผนเดิมซึ่งเคยกำหนดการเริ่มผลิตในปี 50 และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติของโครงการอาทิตย์ระบุให้ในกรณีที่ผู้ขายไม่สามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติในวันและปริมาณที่กำหนดได้ ผู้ซื้อมีสิทธิรับซื้อก๊าซธรรมชาติ สำหรับปริมาณที่ขาดส่ง (Short Fall) ในราคาร้อยละ 75 ของราคาขาย ณ วันที่เกิดการขาดส่งขึ้น ทั้งนี้ ปตท.ในฐานะผู้ซื้อพร้อมรับซื้อและได้แจ้งจำนวนก๊าซธรรมชาติที่จะรับซื้อแล้วในต้นเดือนธ.ค.50
แต่ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ขายไม่สามารถนำส่งได้ จึงทำให้ ปตท.สผ. อาจจะมีความเสี่ยงที่ต้องรับภาระในการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดส่ง โดยคิดเป็นส่วนของปตท.สผ. จำนวนเงินประมาณ 791 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปตท.สผ. และผู้ร่วมทุนโครงการอาทิตย์ในฐานะผู้ขายอยู่ในขั้นตอนของการขอหลักฐานจากผู้ซื้อเพื่อเป็นข้อยืนยันว่าผู้ซื้อพร้อมที่จะรับก๊าซธรรมชาติในปริมาณดังกล่าวได้จริง
*แหล่งอาทิตย์เหนือเริ่มผลิตใน Q3/51
ด้านการสำรวจ ปตท.สผ. ยังคงรักษาความสำเร็จในการสำรวจปิโตรเลียมในโครงการต่างๆ โดยในปี 50 ปตท.สผ. สามารถสำรวจพบปิโตรเลียม 36 หลุมจากหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลทั้งหมด 51 หลุม ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของการค้นพบปิโตรเลียมในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการสำรวจปิโตรเลียมในแปลง M9 สหภาพพม่า ซึ่งปตท.สผ.สามารถพบก๊าซธรรมชาติในทุกหลุมที่ได้ขุดเจาะในปี 50 โดยแบ่งเป็นหลุมสำรวจ 3 หลุมและหลุมประเมินผล 5 หลุม โดยมีความหนาของชั้นหินกักเก็บต่อหลุมประมาณ 46-161 เมตร ซึ่งจากผลสำเร็จของการสำรวจในแปลง M9 ทำให้บริษัทมีความมั่นใจในศักยภาพของก๊าซธรรมชาติทางตะวันออกของแปลง M9 และได้เริ่มวางแผนการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในแปลง M9 ควบคู่กับการสำรวจปิโตรเลียมเพื่อพิสูจน์ศักยภาพในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ด้านการพัฒนาโครงการ ปตท.สผ. ได้เร่งการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ อาทิ โครงการอาทิตย์ โดย ปตท.สผ. ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตกลาง แท่นที่พักอาศัยแท่นหลุมผลิตจำนวน 6 แท่น ขุดเจาะหลุมผลิต 90 หลุม วางท่อก๊าซธรรมชาติ 5 เส้น และท่อคอนเดนเสท 1 เส้นแล้วเสร็จในปี 2550 และคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551
นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังได้เร่งพัฒนาโครงการอาทิตย์เหนือและได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มกับบมจ. ปตท.
(PTT) อีกประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาสที่ 3 ปี 51
สำหรับโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 ปตท.สผ. ได้ดำเนินการเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลจำนวนทั้งสิ้น 7 หลุมเพื่อพิสูจน์ปริมาณสำรองเพิ่มเติมและเร่งพัฒนาโครงการโดยได้ดำเนินการจัดหาและก่อสร้างอุปกรณ์การผลิตต่างๆ เพื่อรองรับการผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในไตรมาสที่ 4 ของปี 52
สำหรับโครงการบงกช ปตท.สผ. ได้รับอนุมัติให้ต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมของแหล่งบงกชทั้ง 3 แปลง ได้แก่แปลงหมายเลข 15, 16 และ 17 เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะทำให้ ปตท.สผ. สามารถพัฒนาแหล่งบงกชใต้ รวมทั้งสำรวจและพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ในบริเวณ 3 แปลงดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาว โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชใต้ได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 54 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชได้สูงถึง 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
สำหรับการพัฒนาโครงการอื่นๆ เช่น โครงการเวียดนาม 9-2 ทางโครงการได้เริ่มการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้เริ่มการเจาะหลุมพัฒนาตามแผนพัฒนาโครงการที่ได้วางไว้
ด้านการลงทุนในปี 50 ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อเป็นการขยายการลงทุนในโครงการที่มีอยู่ ปตท.สผ. ได้เพิ่มสัดส่วนการร่วมทุนในโครงการจี 4/43 โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากเดิมร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 21.375 ในโครงการกัมพูชา บี โดยได้ซื้อสัดส่วนการร่วมทุนจากบริษัท CE Cambodia B Ltd. (CEL) ทำให้สัดส่วนการร่วมทุนของปตท.สผ. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ถือร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 33.333334 และโครงการอินโดนีเซีย เมรางิน-1 จากเดิม ร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 40
ฐานะการเงินของ ปตท.สผ.และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ปตท.สผ.และ บริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 190,039 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนจำนวน 32,226 ล้านบาทหรือ ร้อยละ 20 สาเหตุหลักเนื่องจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในสินทรัพย์เพื่อการผลิตของโครงการอาทิตย์ โอมาน 44, เอส1, ไพลิน, โครงการในประเทศเวียดนาม, พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และพม่า M 7& M9
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--