บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์(JTS)เผยปรับกลยุทธธุรกิจปี 51 เน้นกระจายการประมูลงานใหม่ไปในธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและงานเอกชนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เน้นแต่งานด้านโทรคมนาคมภายใต้ 2 หน่วยงานรัฐ คือ บมจ.กสท.โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที เท่านั้น พร้อมทั้งเน้นงานที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ตั้งเป้าทำรายได้ในปีนี้มากกว่า 3 พันล้านบาท เติบโต 30% จากปี 50
"บริษัทพยายามกระจายความเสี่ยง นอกจากงานประมูลจากทีโอที และ กสท ทำให้ปีนี้ คาดว่าบริษัทจะมีอัตราเติบโตจากลูกค้ากลุ่มใหม่ และลูกค้ากลุ่มสาธารณูปโภค ที่บริษัทเริ่มเข้าประมูลตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว"
JTS ตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้ที่ 20% โดยเฉพาะในงานใหม่ที่จะเข้าประมูลเพิ่มเติม จากงานในมือ(Backlog) ในขณะนี้ 800 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ปีนี้ราว 80% และสิ้นปี 51 บริษัทจะมีงานในมือประมาณ กว่า 1 พันล้านบาทที่รอรับรู้รายได้ในปี 52 ซึ่งคาดว่าว่าในปีนี้จะได้งานใหม่อีก 2.5 พันล้านบาท จากที่เข้าร่วมประมูลกว่า 1 หมื่นล้านบาท
โครงการที่คาดว่าจะได้รับงาน เป็นงานของบมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท.) มูลค่าประมาณ 480 ล้านบาท, บมจ.ทีโอที มูลค่างาน 560 ล้านบาท , งานเกี่ยวกับสาธารณูโภค ให้กับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มูลค่าว่า 500 ล้านบาท , กลุ่มลูกค้าใหม่ อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มูลค่างาน 200 ล้านบาท และประมาณ 700 ล้านบาทมาจากงานของบมจ.ทริปเปิ้ลที บรอดแบรนด์ (TTT BB) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)ด้วยกัน
"บริษัทตั้งเป้าจะต้องมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 20% ถึงจะเข้าร่วมประมูลงานนั้นๆ เราจะไม่ประมูลเยอะ และจะไม่ประมูลงานที่มีความเสี่ยง และเราถือว่าเราได้เปรียบเพราะเราเป็นรายใหญ่อุตสาหกรรมด้วย"นายธีรศักดิ์ จีรอัศวพงศ์ กรรมการผู้จัดการ JTS กล่าว
นายธีรศักดิ์ คาดว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 51 บริษัทจะมีรายได้จากงานในมือ และโครงการที่ยื่นประมุลเมื่อปลายปีที่จะทยอยรับรู้รายได้ เช่น โครงการของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)มูลค่างาน 1.3 พันล้านบาท โครงการของ กสท มูลค่า 800 ล้านบาท โดยครึ่งปีหลังจะเป็นงานใหม่ที่ได้ประมูลได้
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในช่วงไตรมาส 1-3/51 จะมีรายได้ไตรมาสละ 1 พันล้านบาท ส่วนไตรมาส 4/51 จะมีรายได้ต่ำที่สุดในรอบปีนี้
ขณะที่ปี 51 คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 190-200 ล้านบาทจากปี 50 มีอยู่ 150 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร และจะมีค่าเสื่อมเพิ่มเข้ามา
*เล็งประมูลงาน กสท.
นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทจะเข้าประมูลงานต่าง ๆ ของกสท.มูลค่ารวมกว่า 2.6 พันล้านบาท โดยงานแรกที่จะคาดว่าจะรู้ผลประมูลในเร็ว ๆ นี้ คือ งานปรับปรุงประสิทธิภาพระบบซีดีเอ็มเอ มูลค่า 800 ล้านบาท อายุโครงการ 4-5 เดือน ซึ่งบริษัทได้เสนอราคาร่วมกับบริษัท ไวร์เออร์ ไวร์เลส จำกัด โดยผ่านขั้นตอนการยื่นซองเทคนิคไปแล้ว มีคู่แข่งเพียง 2 ราย
"บริษัทคาดหวัง จะได้งานนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ร่วมประมูลกับบริษัท มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานปรับปรุงระบบซีดีเอ็มเอ เนื่องจากเป็นผู้ติดตั้งระบบให้กับทรูมูฟ อยู่แล้ว" นายธีรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนั้น ยังมีงานปรับปรุงสเปคระบบซอฟท์แวร์ มูลค่าราว 500 ล้านบาท คาดยื่นแบบราวเดือน ก.พ.นี้ บริษัทมีความหวังเพียง 20-30% ว่าจะได้งานนี้ แม้การแข่งขันด้านราคาจะไม่รุนแรงมาก แต่จะเป็นการแข่งขันระหว่างซัพพลายเออร์รายใหญ่ๆ อาทิ โนเกีย ซีเมนส์ อัลคาเทล ซึ่งบริษัทเป็นพันธมิตรที่ดีกับอัคคาเทล
และ โครงการขยายเคเบิลใต้น้ำ มูลค่า 400 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าร่วมกับอัลคาเทลเข้าประมูล คาดออกประกาศเชิญชวนร่วมประมูล(ทีโออาร์)ใน 2 เดือนข้างหน้า ประเมินโอกาสได้งาน 30% ส่วนโครงการ IP CALL มูลค่า 900 ล้านบาท เชื่อว่างานนี้มีการแข่งขันสูงเราะเป็ฯงานขนาดใหญ่ จึงตั้งความหวังได้งานเพียง 10%
*หวังงานทีโอที แค่ 20% หันขยายลูกค้ากลุ่มใหม่
นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทเตรียมเข้าประมูลงานทีโอที 4 โครงการ ประกอบด้วย งานขยายเลขหมาย 3 แสนเลขหมายรองรับการให้บริการบรอดแบรนด์ มูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาทเชื่อว่าทีโออาร์จะเลื่อนออกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า,โครงการปรับเปลี่ยนสายส่ง 600 ล้านบาท, โครงการขยายสื่อสัญญาณ 200 ล้านบาท และโครงการ Fibre to home มูลค่า 300 ล้านบาท
"ขณะนี้บอร์ด ทีโอทีไม่นิ่งต้องรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และดูว่าบอร์ดจะมีการเปลียนแปลงหรือไม่ รวมถึงการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่าจะต้องระมัดระวังในการเข้าประมูลงานของทีโอที" นายธีรพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทคาดหวัง 20% ว่าจะได้งานประมูลของทีโอที และหันมาให้ความสำคัญกับการประมูลงานด้านอื่นเพิ่มขึ้น เช่น งานด้านสาธารณูปโภค ที่เตรียมร่วมกับซีเมนส์เข้าประมูลของกฟน. ได้แก่ งานติดตั้งระบบเสาไฟ มูลค่า 1.5 พันล้านบาท , โครงการจัดการระบบโครงข่ายเคเบิลใยแก้วแบบบูรณาการ มูลค่า 1.2 พันล้านบาท คาดว่าอีก 6 เดือนทีโออาร์จะออกมา, โครงการปรับปรุงระบบเรดิโอ มูลค่า 300 ล้านบาท คาดว่าทีโออาร์จะออกในเร็วๆนี้
ส่วนกลุ่มลูกค้าใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นงานปรับปรุงระบบไอทีและเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงาน กทม. และ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งถือว่าโอกาสได้งานสูง เนื่องจากมูลค่าโครงการเป็นขนาดเล็ก และการแข่งขันไม่รุนแรง เนื่องจากไม่มีรายใหญ่เข้าร่วม
ในส่วน TTT BB จะมีงานขยายเครือข่ายสัญญาณรองรับบรอดแบรนด์ มูลค่างาน 700 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 1 พันล้านบาท โดย TTT BB มีแผนจะเข้าตลาดในปี 51 โดยได้ยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เมื่อปลายปี 50 จะเข้าซื้อขายได้เมื่อไรขึ้นอยู่ก้บการอนุมัติไฟลิ่งของก.ล.ต.
สำหรับปัญหาราคาหุ้น JTS ในตลาดที่ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว มูลค่าการซื้อขายน้อย เพราะปัญหาสภาพคล่องต่ำ ทั้งนี้ฝ่ายบริหาร เห็นว่าควรปล่อยให้เป็นเรื่องกลไกตลาด เพราะที่ผ่านมาจากสภาพเศรษฐกิจซบเซา และหุ้นกลุ่มสื่อสารต่างก็ปรับตัวลดลง
"เราก็พยายาม ที่จะสร้างผลประกอบการที่ดี มีการจ่ายปันผลที่จูงใจเพื่อให้นักลงทุนกลับมาสนใจลงทุนในหุ้น JTS และปีนี้ก็คาดว่าจะมีการจ่ายปันผลตามนโยบายของบริษัท ไม่ต่ำกว่า 40%ของกำไรสุทธิ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในเดือนม.ย."นายธีรพงศ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--