ฟิทช์ เพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ BAY เป็น "F1" แนวโน้ม "มีเสถียรภาพ"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 17, 2019 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency IDR) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เป็น ‘F1’ จาก ‘F2’ และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘A-’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นได้รับการปรับเพิ่มอันดับเนื่องจากฟิทช์ประเมินว่าการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือการดำเนินงานตามปรกติจากธนาคารแม่ของ BAY ซึ่งคือ MUFG Bank, Ltd. (A/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/F1) มีความแน่นอนมากขึ้นในระยะสั้น หลังจากที่ธนาคารได้รวมกิจการกับสาขาของ MUFG ในกรุงเทพฯ ในปี 2558 BAY ได้มีการเชื่อมโยงของการดำเนินงานกับกลุ่มมากขึ้นซึ่งสะท้อนโดยการปรับตัวดีขึ้นของการระดมเงิน (funding) และสภาพคล่องของธนาคาร นอกจากนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่าธนาคารเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับกลยุทธ์ในภูมิภาคของ MUFG

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่า BAY เป็นบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ MUFG โดยธนาคารแม่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% และมีอำนาจการบริหารงาน อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงทางด้านการตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฐานลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์สำหรับการธนาคารระหว่างประเทศ BAY เป็นหนึ่งในการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ MUFG อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญสำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ MUFG ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานที่สำคัญแก่ BAY ซึ่งรวมถึงการระดมเงิน (funding)

อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ที่ AAA(tha) สะท้อนถึงโครงสร้างความเสี่ยงในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศไทย โดยอันดับเครดิตในระดับดังกล่าวนี้เป็นอันดับเครดิตระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตที่ฟิชท์ให้กับผู้ออกตราสารหรือภาระผูกพันที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ออกตราสารหรือภาระผูกพันอื่นทั้งหมดที่อยู่ในประเทศเดียวกัน การสนับสนุนจาก MUFG เป็นสาเหตุที่ทำให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BAY ที่ ‘A-’ อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของประทศไทยที่ ‘BBB+’ อีกทั้งอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ก็สอดคล้องกับหลักการในการจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ที่ใช้สำหรับธนาคารหรือบริษัทที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยและมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับเดียวกัน

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน สกุลเงินบาทของ BAY อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารที่อยู่ในระดับที่พอเพียงซึ่งช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันและผลการดำเนินงานในระยะยาวของธนาคาร BAY มีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านของสินทรัพย์มากกว่า 10% และได้รับการกำหนดจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (domestic systemically-important bank) นอกจากนี้ธนาคารมีการดำเนินงานที่หลากหลายและมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับกลุ่มลูกค้าที่สำคัญทุกกลุ่ม แต่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในธุรกิจกลุ่มลูกค้ารายย่อยและในการให้บริการบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามเครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารยังคงมีขนาดเล็กกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นในประเทศไทย และยังมีฐานะเงินกองทุนและความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยกว่า

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ยังได้สะท้อนถึงการสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติ (ordinary support) จาก MUFG เช่นวงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและการระดมเงิน (funding) ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์เชื่อว่ากลุ่มจะมีการให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องหากจำเป็น

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ BAY ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ ความต่างของอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีมากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ และการไม่มีคุณสมบัติในการรองรับผลขาดทุนในลักษณะที่เป็นการบังคับตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down) เมื่อธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability) ทั้งนี้ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติม เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption)

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารแม่และโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ MUFG อาจบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในความสามารถของ MUFG ที่จะให้การสนับสนุนแก่ BAY และอาจทำให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ถูกปรับลดอันดับ อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ MUFG จะไม่ส่งผลให้อันดับเครดิตของ BAY ถูกปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ BAY อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) แล้ว ในขณะที่อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY อยู่ในระดับที่สูงสุดแล้วจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ

อันดับเครดิตของ BAY อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงของโอกาสที่ MUFG จะให้การสนับสนุนแก่ BAY เช่น การลดลงอย่างมากของสัดส่วนการถือหุ้น หรือการลดลงในระดับการเชื่อมโยงในการดำเนินงานกับกลุ่ม อาจทำให้อันดับเครดิตถูกปรับลดอันดับ อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศและการควบคุมความเสี่ยงที่แข็งแกร่งมากเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ (โดยพิจารณาจากการสนับสนุนที่ได้รับจาก MUFG) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสะท้อนในการปรับตัวดีขึ้นของความสามารถในการสร้างกำไร อัตราส่วนคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารให้อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของภาคการธนาคารตลอดวัฏจักรของธุรกิจได้

การปรับตัวด้อยลงอย่างมากของคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงด้านคุณภาพของสินทรัพย์และรายได้อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารถูกปรับลดอันดับ อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรที่สำคัญของ BAY อยู่ในระดับต่ำสำหรับอันดับเครดิต ‘bbb’ แม้ว่าธนาคารมีการกระจายตัวของรายได้ที่ค่อนข้างดีแต่ธนาคารอาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในด้านราคาที่รุนแรงขึ้น และหากธนาคารไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถมีการประหยัดต่อขนาดที่ดีขึ้น

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ