บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCB ที่ ‘AA(tha)’ โดยทั้ง SCB และ SCBS มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCB พิจารณาจากโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุดในประเทศ (ณ สิ้นปี 2561) และมีเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่ง อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังพิจารณาถึงการที่แนวโน้มความสามารถในการทำกำไรของธนาคารมีการปรับตัวด้อยลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารอาจจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารในกลุ่มอับดับเครดิตคล้ายกันในต่างประเทศในระยะปานกลาง นอกจากนี้ SCB ยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับที่น่าพอใจในด้านอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 146.7% และในด้านฐานะเงินกองทุน (โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่คำนวนโดยฟิทช์ที่ 16.4%) ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนอันดับเครดิต ณ ระดับปัจจุบันของธนาคาร
ฟิทช์เชื่อว่า SCB น่าจะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่อเนื่องในปี 2562 เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงในด้านสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์เริ่มมีแนวโน้มที่จะทรงตัว แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากธนาคารยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง และฟิทช์คาดว่า SCB น่าจะสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารอื่นในกลุ่มอันดับเครดิตคล้ายกันในระยะปานกลาง
ความสามารถในการทำกำไรของ SCB น่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในโครงการ Transformation ที่ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบ IT ครั้งใหญ่ของธนาคาร อย่างไรก็ตามผลกระทบดังกล่าวน่าจะถูกลดทอนลงไปได้บ้างจากแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลาง
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ SCB สะท้อนถึงความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ในฐานะที่ธนาคารมีฐานลูกค้าเงินฝากใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 15.9% ณ สิ้นปี 2561
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ที่ไม่เข้าเกณฑ์บาเซล 3) ของ SCB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร 1 อันดับ เพื่อสะท้อนสถานะด้อยสิทธิตามโครงสร้างเงินทุนเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันและความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss-severity risks) ที่สูงกว่า ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตบริษัทลูก
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBS ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคารแม่ (ซึ่งคือ SCB) 1 อันดับ ซึ่งพิจารณาจากการที่ฟิทช์คาดว่า SCBS จะได้รับการสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) จาก SCB โดยฟิทช์มองว่า SCBS มีสถานะเป็นบริษัทลูกที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ SCB ซึ่งสะท้อนได้จากการใช้ชื่อและเครื่องหมายทางการค้าร่วมกัน การถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูกของธนาคารแม่ และการผสานการดำเนินงานและบริหารงานกันอย่างใกล้ชิดมากกับธนาคารแม่ อีกทั้ง SCBS ยังมีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจรูปแบบธนาคารครบวงจร (universal banking strategy) ของธนาคารแม่
อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ SCBS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทที่ ‘AA(tha)’ อยู่ 1 อันดับ เนื่องจากผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีลำดับสิทธิในการเรียกร้อง (priority of claims) ด้อยกว่าเจ้าหนี้บุริมสิทธิและเจ้าหนี้สามัญอื่น (senior creditor) และความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ที่สูงกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน อีกทั้งยังสะท้อนถึงการที่หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) และไม่มีคุณสมบัติการแปลงเป็นทุน (equity conversion)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในมุมมองของฟิทช์ต่อระดับโครงสร้างเครดิตของ SCB เทียบกับโครงสร้างเครดิตของธนาคาร (หรือบริษัท) อื่นในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB เช่นกัน
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
โอกาสที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย แล้ว (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และธนาคารยังมีสัดส่วนเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยน่าจะส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับ หากมีการปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่าระดับที่ฟิทช์คาดการณ์ในด้านคุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไรและลงไปในระดับที่ด้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่ใช้เทียบเคียง นอกจากนี้สัญญาณที่บ่งชี้ถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยที่ธนาคารไม่สามารถรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงไว้ในระดับที่เพียงพอ ในด้านระดับของสำรองหนี้สูญและฐานะเงินกองทุน อาจส่งผลให้ธนาคารถูกปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
ฟิทช์อาจต้องทบทวนการประเมินอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ SCB ใหม่ หากความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารมีการปรับตัวลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง
นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในมุมมองของฟิทช์ต่อแนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย (ซึ่งรวมถึง SCB) อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธินับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ที่ไม่เข้าเกณฑ์บาเซล 3) ของ SCB จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ซึ่งคืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตบริษัทลูกและบริษัทย่อย
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBS จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแม่ อีกทั้งยังอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมุมมองของฟิทช์เกี่ยวกับโอกาสในการที่ธนาคารแม่ (ซึ่งคือ SCB) จะให้การสนับสนุนแก่บริษัท เช่น ในกรณีที่มีการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBS ลงอย่างมากหรือมีการลดระดับความใกล้ชิดหรือความเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงานและการบริหารงาน อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ SCBS จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท