(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งไซด์เวย์ Sentiment โดยรวมจากตปท.ยังเป็นบวก-จับตาการทยอยประกาศงบฯเป็นหลัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 19, 2019 09:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งไซด์เวย์ โดย Sentiment โดยรวมจากปัจจัยต่างประเทศยังเป็นบวกอยู่ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดี ส่วนบ้านเราผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ที่ส่วนใหญ่ประกาศออกมาก็เป็นไปตามคาด จะมีบางแบงก์เท่านั้นที่ต่ำกว่าคาด ดังนั้นกลุ่มแบงก์คงจะไม่ช่วยหนุนตลาดเท่าไร

ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้แกว่ง Sideway up เฉลี่ยราว 0.5% ซึ่งก็มีหลายตลาดที่ปิดทำการ และช่วงนี้ปัจจัยต่างประเทศซา ๆ ลง แต่จะหันมาจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนภายในแต่ละตลาดมากกว่า แต่ก็ยังต้องติดตามพัฒนาการของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอยู่ต่อไป

พร้อมให้แนวรับ 1,665 จุด ส่วนแนวต้าน 1,680 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (18 เม.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,559.54 จุด เพิ่มขึ้น 110.00 จุด (+0.42%) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,905.03 จุด เพิ่มขึ้น 4.58 จุด (+0.16%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,998.06 จุด เพิ่มขึ้น 1.98 จุด (+0.02%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 147.95 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 0.05 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 55.67 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 9.65 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.91 จุด

ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวัน Good Friday

  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (18 เม.ย.62) 1,675.00 จุด เพิ่มขึ้น 1.80 จุด (+0.11%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,093.15 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 เม.ย.62
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (18 เม.ย.62) ปิดที่ 64.00 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 24 เซนต์ หรือ 0.4%
  • เงินบาทเปิด 31.81 แนวโน้มแกว่งกรอบแคบ เหตุตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่หนุนทิศทาง-ตลาดยุโรปปิดทำการ
  • รฟท.ถกร่างสัญญารถไฟความเร็วสูงวันนี้ เคาะอัตราค่าปรับกรณีผิดสัญญา ยืนยันตีตก 12 เสนอนอกทีโออาร์ เตรียมชงกพอ.-ครม.เป็นผู้ชี้ขาด 3 โจทย์หิน ยืดชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ตลิงก์ขอรับเงินอุดหนุนปีแรก พันธมิตรซีพีเผย 2 จุดเสี่ยงจำนวนผู้โดยสาร-เทคโนโลยีไฮสปีด ด้าน ทร.ระบุยังไม่เปิดซอง 1 ประมูลอู่ตะเภา
  • ทอท.ใส่เกียร์ลุยประมูลดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ หลังคณะกรรมการ PPP ปลดล็อก ไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62 "นิตินัย" เผย มีเอกชน 5 ราย ซื้อซอง ดิวตี้ฟรี "เซ็นทรัล-คิงเพาเวอร์-ไมเนอร์-บางกอกแอร์เวย์ส-รร.รอยัล ออคิด" ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีซื้อ 4 ราย ทอท.เปิดยื่นชิงดำ 22 พ.ค. รู้ผลไม่เกิน 31 พ.ค.62
  • คมนาคม-กรมทางหลวง เตรียมชง ครม.ตั้งงบ ปี 63 ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) หลังหารือสำนักงบประมาณสรุปใช้งบประมาณก่อสร้าง ส่วน สปป.ลาวเร่งเจรจา เงินกู้เนด้า ลงทุน
  • "สมคิด" บุกคลังจี้งัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน หลังส่งออก ท่องเที่ยว ลงทุนวืดฉุดจีดีพีปีนี้ส่อเค้าหลุดเป้าหมายที่ 4% "บัญชีกลาง" ลุยแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มอีก 7.85 หมื่นราย
  • 'พาณิชย์' พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งแรกของปี ที่ภูเก็ต ถก 3 ด้านใหญ่มุ่งรับมือเศรษฐกิจดิจิตอล และความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มั่นใจจับมือบรรลุข้อตกลงกำจัดปัญหา อุปสรรค-ดันการค้าการลงทุนร่วมกัน

*หุ้นเด่นวันนี้

  • AOT (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า Consensus 74 บาท ได้ Sentiment บวกบอร์ด PPP ระบุ Duty free ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. PPP ทำให้ AOT สามารถจัดประมูลได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการตามขั้นตอนของ PPP เพิ่ม เบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูล 22 พ.ค.และเปิดซองประมูล 31 พ.ค. 62
  • RS (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 21.5 บาท (รวมประโยชน์จากการเยียวยาแล้ว) แนวโน้มกำไร Q1/62 จะดีสุดหากเทียบกับกลุ่มทีวีดิตอลและคาดว่าจะเติบโต Y-Y แรงขับเคลื่อนมาจากยอดขายของธุรกิจ MPC ที่คาดทำ new high เพราะมียอดขายที่เลื่อนรับรู้มาจากการทำ New Year Grand sales ในช่วงปลายปีราว 50 ล้านบาทและยอดขายสินค้าในช่องไทยรัฐทีวี 1 เดือน (เริ่มต้น มี.ค.) และปัจจุบันมี PE 30x แม้จะใกล้เคียงกลุ่มค้าปลีก แต่การเติบโตของกำไรปีนี้ (42%) สูงกว่ากลุ่ม (15%) มาก
  • BBL (เคทีบี) "ซื้อ" เป้า 242 บาท กำไรสุทธิใน Q1/62 เติบโตดีตามคาด โดยประกาศกำไรสุทธิ Q1/62 อยู่ที่ 9 พันล้านบาท ทรงตัว YoY แต่เพิ่มขึ้น 11% QoQ เป็นไปตามที่คาด โดยการทรงตัว YoY มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ –10% YoY จากผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมออนไลน์ซึ่งเริ่มใน Q2/61 แต่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 7% YoY เพราะสินเชื่อที่เข้ามาใหม่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าของเดิมส่งผลให้ NIM มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.43% จาก 2.30% ใน Q1/61 ขณะที่มีการตั้งสำรองฯที่ลดลง 31% YoY เพราะมีระดับ Coverage Ratio อยู่สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารที่ 189% ส่วนกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น QOQ เนื่องจากไม่มีการตั้ง employee benefit เหมือนไตรมาสก่อนที่ตั้งสูงถึง 2.6 พันล้านบาท ในด้าน NPL มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% จาก 3.4% ในไตรมาสก่อน แต่เชื่อว่าจะควบคุมได้ โดยยังคงกำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% YoY ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร พร้อมมองมีความเสี่ยงต่ำสุดแต่การเติบโตของกำไรสูงสุดในกลุ่มฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ