นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา"ม.44 อุ้มมือถือ ใครได้ ใครเสีย และใครเสียท่า"โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า การยืดหนี้ 4G ครั้งนี้เป็นการยกประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ เมื่อดูจากมูลหนี้ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) มีอยู่ประมาณ 60,000 ล้านบาท ทำให้เงินที่ควรจะได้กลับถูกยืดเวลาออกไป
แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) พยายามอธิบายว่าการยืดหนี้ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลงแต่ยังคงได้เงินเท่าเดิมนั้น ไม่ได้เอาดอกเบี้ยมาคิด เพราะหากนำดอกเบี้ยมาคำนวณจะพบว่าเงินที่รัฐควรจะได้หายไป แต่เงินที่เอกชนได้จะเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณแล้วรายได้ของเอกชนทั้งสามรายรวมกันยังมีรายได้ที่ 19,740 ล้านบาท
ถัดมาสิ่งที่ กสทช.ระบุว่ารัฐบาลบังคับให้เอกชนทำ 5G นั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่แท้จริงๆ ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการให้อภิสิทธิ เพราะทั้งเอกชนสามรายจะมีสิทธิได้คลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ไปให้บริการ 5G โดยไม่ต้องประมูล และตลาดก็จะมีผู้ให้บริการ 3 รายเท่าเดิม ไม่มีรายใหม่เกิดขึ้นมา เหมือนเป็นว่าเอกชนได้ซื้อคลื่น 5G ไปผูกขาดตลาดโทรคมนาคมในราคาที่ถูกมาก
นอกจากมีการผูกขาดแล้วยังมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการทั้งสามราย เพราะ TRUE จะได้คลื่นในราคาประมาณ 8,000 ล้านบาท ขณะที่บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะได้คลื่นในราคาประมาณ 15,000 ล้านบาท เป็นเพราะเอกชนได้ส่วนลดจากคลื่น 4G ไม่เท่ากันเมื่อนำมาคำนวณแล้วจึงแตกต่างกัน
และเชื่อจริงหรือว่าสุดท้ายผู้ประกอบการจะชำระค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ได้ เพราะขนาดคลื่น 4G ยังต้องขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือ สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์จากการยืดหนี้ครั้งนี้คืออภิมหาเศรษฐีรายเดิม จึงอยากตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลต้องไปอุ้มมหาเศรษฐีอีก
ประเด็นถัดมาบริการ 5G เป็นบริการในอนาคต แปลว่าไม่ต้องรีบร้อนทำตอนนี้ ผู้บริหารเอไอเอสยังคงบอกว่าเอไอเอสพร้อมแต่5G ยังไม่รีบ ที่ไม่รีบเพราะยังไม่เห็นว่ามีบริการอะไรจะออกมารองรับการใช้งาน จึงมีคำถามว่าที่เลขาธิการ กสทช.ระบุว่านำ 5G ออกมาแล้วจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจมันคือความฝันใช่หรือไม่ ยิ่งถ้าไปดูความพร้อมในการผลิตอุปกรณ์ 5G ในคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ก็ยังไม่มีเลย หากได้คลื่นไปแล้วจะทำอย่างไร ปัจจุบันคนที่ทำ 5G ก่อนคือผู้ที่ผลิตอุปกรณ์ขาย ซึ่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบด้วยซ้ำ รออีก 2-3 ปี ไม่ช้าแน่นอน
"การใช้มาตรา 44 ในการออกมาตรการนี้เป็นการใช้อำนาจที่ขาดความรับผิดชอบ เพราะถ้าอยู่ๆ รัฐไปยกประโยชน์ให้เอกชนยืดหนี้โดยไม่มีเหตุผลคงต้องเป็นความผิด การใช้มาตรา 44 ทำให้ไม่สามารถฟ้องเอาผิดได้ การยกอำนาจดุลยพินิจให้เลขาธิการ กสทช.ยังเป็นการเสี่ยงต่อการทุจริต เพราะเป็นการให้อำนาจมหาศาลเหมือนการให้เช็คเปล่ากับ กสทช. เนื่องจากดุลยพินิจที่เลขาธิการมีสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลไม่ว่าจะเป็นมูลค่าคลื่น ระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ ระยะเวลาการชำระเงินฯ
และสุดท้ายที่ประชาชนควรรู้คือผู้เสียหายครั้งนี้คือประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้เสียภาษี ประชาชนจึงเป็นเจ้าหนี้ทางอ้อมของเอกชน การที่ยืดหนี้ให้เอกชนเท่ากับประชาชนเสียโอกาสในการได้ 5G ในตลาดที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสู่ตลาด ทำให้การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยย้อนกลับไปเหมือนสมัยที่อยู่ในระบบสัมปทาน ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาตการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ย้อนกลับไปสู่ระบบเดิม และทำให้ประเทศไทยห่างไกลไปจากประเทศพัฒนาแล้วเพราะรัฐไทยยังมีปัญหาธรรมาภิบาลที่บกพร่องอย่างร้ายแรง"นายสมเกียรติ กล่าว
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นการรอนสิทธิของประชาชน โดยเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้นทุนของผู้ประกอบการจะถูกถ่ายโอนมาให้ผู้บริโภค นอกจากนี้การให้นำคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ออกมาจัดสรรเป็นการผูกขาด เพราะไม่มีโอกาสที่จะไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่
อีกทั้งเอกชนได้โชคอย่างน้อย 4 ชั้น คือ ได้ขยายเวลาการชำระหนี้ให้เอกชนไม่น้อยกว่า 63,000 ล้านบาท , การขยายระยะเวลาชำระเงินทำให้ความรับผิดชอบเงินที่เอกชนต้องจ่ายถูกผลักมาให้กับประชาชนทางอ้อม , เอกชนได้คลื่น 5G ราคาถูก การได้คลื่นโดยไม่ต้องประมูลเป็นการทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะได้ค่าประมูลคลื่นและดอกเบี้ย และผลที่เกิดจากมาตรการทำให้อำนาจไปตกอยู่ที่กสทช. เหมือนเลขาธิการกสทช.มีอำนาจเต็มทุกอย่าง ดังนั้นการตรวจสอบถ่วงดุลจะทำอย่างไร