ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุ อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางด้านรายได้และต้นทุนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง ในปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรทัศน์มีการออกอากาศในระบบดิจิทัล จำนวนทั้งหมด 22 ช่อง โดยแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1.เด็กและครอบครัว 2.ข่าว 3.Standard Definition (SD) และ 4.High Definition (HD) โดยช่องทีวีดิจิทัลมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดทีวีดิจิทัลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในสภาวะไม่ดีนักสะท้อนได้จากรายได้รวมมีการหดตัวลงจาก 1.24 แสนล้านบาทในปี 57 มาอยู่ที่ 1.19 แสนล้านบาทในปี 61 (-6%CAGR) โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจที่ ผันผวนและการชะลอตัวของกำลังซื้อ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการมีช่องโทรทัศน์ทางเลือกและสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นทำให้บริษัทและเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับลดงบโฆษณาในช่องทางทีวีลงตามไปด้วย
ขณะที่ในระยะกลาง (62-64) EIC ประเมินว่า อัตรากำไรของธุรกิจทีวีดิจิทัลมีแนวโน้มลดต่ำลง ถึงแม้ว่ารายได้โฆษณาของธุรกิจทีวีดิจิทัลจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 5%CAGR จากการฟื้นตัวสภาพเศรษฐกิจ แต่การแข่งขันระหว่างช่องทีวีและสื่อออนไลน์ที่รุนแรง ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจึงต้องมีเนื้อหาที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้ชมซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับตัวลงเล็กน้อยจากราว 10% ในปี 62 เป็น 8.8% ในปี 64
ขณะที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเรียกคืนคลื่นความถี่ช่วง 700MHz ที่ใช้ในกิจการทีวีเพื่อนำไปพัฒนา 5G (ในเดือน ม.ค.62) โดยมีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 2 ทางเลือก ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการสามารถย้ายไปดำเนินการที่ช่วงคลื่นที่กำหนด หรือ 2) ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตและยุติการดำเนินการ
EIC ประเมินว่ามี 4 ช่องทีวีที่มีแนวโน้มในการคืนใบอนุญาต 3 ช่องอยู่ในหมวดข่าว และอีก 1 ช่องอยู่ในหมวดเด็กและครอบครัว โดยพบว่าปัจจัยที่สำคัญในการคืนใบอนุญาตนั้นมาจากรูปแบบและการนำเสนอรายการที่ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่จึงส่งผลให้เรตติ้งต่ำกว่าช่องอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงรายได้และอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำหรับผู้เล่นบางรายที่ถือใบอนุญาตมากกว่า 1 ใบ การคืนใบอนุญาตบางส่วนอาจส่งผลบวกมากกว่าผู้เล่นรายอื่น ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงพร้อมทั้งการได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตที่เหลือ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประเมินว่าประมาณ 4 ช่องที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาต จากการวิเคราะห์ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ ความสามารถในการแข่งขัน และเสถียรภาพทางการเงิน จากการศึกษากรณีตัวอย่างการคืนใบอนุญาตของบริษัทไทยทีวีและกรณีศึกษาต่างประเทศพบว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ได้แก่ 1) กลยุทธ์ ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหารายการ (Content) ช่องทางการรับชมรายการที่มากกว่า 1 ช่องทาง (Multi-screen strategy) เช่น เว็บไซต์ของช่อง YouTube Facebook เป็นต้น และพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) 2) ความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเรตติ้งเป็นตัวตัดสินความนิยมของรายการทีวี และ 3) เสถียรภาพทางการเงิน สะท้อนจากการเติบโตของรายได้ ผลกำไรจากการดำเนินการ และอัตราส่วนของหนี้สินต่อของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio)
การคืนใบอนุญาตจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมและผู้บริโภคมากนัก โดยรายได้จากการโฆษณาของทั้ง 4 ช่องที่คืนใบอนุญาต คิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าโฆษณาทีวีทั้งหมด คาดว่าจะตกอยู่ที่ช่องที่เหลือและสื่อออนไลน์ ส่วนผู้บริโภคยังมีทางเลือกอื่นทดแทนช่องที่ปิดตัว กระบวนการคืนใบอนุญาตจะเกิดขึ้นในช่วง ก.พ.63 ถึง ธ.ค.63 ดังนั้นผลกระทบของการคืนใบอนุญาตจะเริ่มเกิดขึ้นในปี 64
โดย EIC ประเมินว่า รายได้จากการโฆษณาของทั้ง 4 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาตจะอยู่ที่ราว1.2 พันล้านบาท หรือเพียง 2% ของมูลค่าโฆษณารวมในตลาดทีวีดิจิทัล ดังนั้นการคืนใบอนุญาตจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรทัศน์มากนัก ขณะที่ อานิสงส์ของรายได้จากการโฆษณาส่วนนี้จะไปตกอยู่ที่ช่องที่เหลือและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะช่องที่มีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเดียวกับรายที่คืนใบอนุญาต (กรณีที่ผู้ประกอบการ 1 รายมีช่องทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่อง) และช่องที่มีเนื้อหาและกลุ่มคนดูใกล้เคียงกัน
รวมถึงการให้บริการสื่อวิดีโอหรือโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ Over-the-Top platform (OTT) ยังคงมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคไทยของบริษัทวิจัยการตลาด Nielsen พบว่ามีการรับชมรายการผ่าน Online platform มากขึ้น โดยกว่า 80% นิยมการรับชมแบบย้อนหลังและใช้เวลาเฉลี่ย 58 นาทีต่อวัน ทำให้บริษัทโฆษณาหรือเจ้าของผลิตภัฑณ์ต่าง ๆ สนใจซื้อเวลาโฆษณาใน OTT เพิ่มขึ้น
ในส่วนของผู้บริโภค การคืนใบอนุญาตและยุติการดำเนินการจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากความนิยมของช่องที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาตอยู่ในระดับที่ไม่สูง อย่างไรก็ตาม การมีจำนวนช่องหมวดข่าว และหมวดเด็กและครอบครัวลดลง อาจมีนัยต่อความหลากหลายของการรับชมสื่อทำให้ต้องติดตามทิศทางในอนาคตของสื่อต่อไป
นอกจากนี้ EIC ยังคาดว่าผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลจะสูญเสียรายได้เล็กน้อยจากช่องทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต ที่ราว 40 ล้านบาทต่อปีต่อราย ส่วน กสทช. อาจจะมีค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนช่วงคลื่นราว 2-2.5 หมื่นล้านบาท ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ได้แก่ ไทยพีบีเอส ททบ. 5 กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. (MCOT) มีแนวโน้มสูญเสียรายได้จากการให้เช่าโครงข่ายในระยะเวลาอีก 10 ปีที่เหลือ ราว 2.5 พันล้านบาท แต่เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 4 ช่องใช้ผู้ให้บริการโครงข่ายที่แตกต่างกันจึงทำให้ผลกระทบจากการสูญเสียรายได้อยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อรายต่อปี หรือคิดเป็นราว 8-12% ของรายได้การให้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลทั้งหมดของผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล ดังนั้นผลกระทบอาจอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก
ในส่วนการคืนใบอนุญาต กสทช. จะได้รับประโยชน์จากการเสียค่าใช้จ่ายลดลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายทดแทนการย้ายคลื่นของทั้ง 4 ช่องทีวีดิจิทัลอยู่ที่ราว 1.6 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายรับของ กสทช.จากค่าธรรมเนียมรายปีของทีวีดิจิทัลทั้ง 4 ช่องในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าทั้งหมดประมาณ 180 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับผลกระทบจากการย้ายทีวีดิจิทัลอีก 18 ช่องที่ดำเนินการต่อไปยังช่วงคลื่น 470MHz ซึ่ง กสทช.จะมีค่าใช้จ่ายราว 2-2.5 หมื่นล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายจำนวนนี้จะมาจากค่าประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่ประมูลไปแล้วปี 61 และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.) ในขณะที่ กสทช. ประเมินว่ารายได้จากการประมูลคลื่น 700MHz ที่เรียกคืนจากกิจการทีวี จะมีมูลค่ากว่า 7.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมคงต้องเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการหลัก ได้แก่ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ นโยบาย กฎระเบียบและการควบคุมของ กสทช. และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในระยะข้างหน้า Omni-channel การขายลิขสิทธิ์รายการทีวี และ Home Shopping ถือเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถการแข่งขันของช่องทีวีดิจิทัล ในปัจจุบัน อีไอซี ได้เห็นเทรนด์เหล่านี้ของผู้ประกอบการบางรายแล้ว โดยนอกจากความสำคัญของ Content ที่ต้องมีคุณภาพและตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย การศึกษาของ McKinsey and EY ยังพบว่า Omni-channel หรือการเชื่อมโยงช่องทางต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบ Seamless จะเป็นการสร้าง Ecosystem ของธุรกิจสื่อทั้งหมดและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น เช่น อมรินทร์ ทีวี ที่ผสานกลยุทธ์กับอีก 4 ช่องทางในมือได้แก่ สื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ อีเวนต์ และกิจกรรม ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอขายแพ็คเกจโฆษณาผ่าน 5 ช่องทางดังกล่าว
ในด้านการขายลิขสิทธิ์รายการทีวี บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย (JKN) ให้เป็นตัวแทนจำหน่าย Content ร่วม 70 เรื่องในต่างประเทศ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ทำให้รายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีของ BEC ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 300%YOY นอกจากนี้ช่อง CBS ในสหรัฐฯยังใช้ช่องทางเดียวกันในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 33%YOY เป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 60
และบมจ.อาร์เอส (RS) ได้ปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นธุรกิจ "สุขภาพ-ความงาม" มากขึ้น โดยใช้ช่อง 8 และสื่ออื่นในมือโฆษณาสินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตน ผ่านรายการ Home shopping "Shop1781" ซึ่งสร้างรายได้ให้กับ RS ถึง 2.1 พันล้านบาทในปี 61 หรือราว 60% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้เทรนด์การสร้างรายได้ทั้ง 3 รูปแบบจะเป็นช่องทางใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและต่อยอดในการทำธุรกิจในระยะข้างหน้า