พลังงาน ให้ PTT ชดเชย NGV รถสาธารณะต่อแม้ทยอยขึ้นราคาตั้งแต่กลางพ.ค.,เคาะ B10 ต่ำกว่า B7 ราว 1 บาทจูงใจใช้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 22, 2019 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมาได้พิจารณาเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถสาธารณะที่ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนราคาอยู่ที่ 10.67 บาท/กิโลกรัม ต่ำกว่าราคาขายปลีกในปัจจุบันที่อยู่ระดับ 16.01 บาท/กิโลกรัม โดยมีบมจ.ปตท. (PTT) เป็นผู้ชดเชยส่วนต่างดังกล่าวให้มาเป็นเวลานานในระดับหลายพันล้านบาท และเมื่อมีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะแล้วในวันนี้ และได้รวมการคำนวณการปรับขึ้นราคา NGV ไปแล้วบางส่วน จึงเห็นว่าเป็นการเหมาะสมที่จะลดอัตราการชดเชยราคา NGV ดังกล่าวลง ที่ประชุมกบง.จึงได้ยืดเวลาการลดการชดเชยดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ราคา NGV สำหรับรถสาธารณะมีราคาเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามแผนจะทยอยขึ้นราคา NGV สำหรับรถสาธารณะครั้งละ 1 บาท/กิโลกรัม จำนวน 3 ครั้ง โดยขึ้นครั้งแรกในวันที่ 16 พ.ค.62 ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ก.ย. 62 และครั้งที่ 3 วันที่ 16 ม.ค.63 โดยส่วนต่างที่เหลือจากราคาปกติจะให้ปตท.รับภาระชดเชยต่อไป

"ตอนนี้ค่าโดยสารรถสาธารณะก็เพิ่มขึ้นแล้ว หลักการคำนวณค่าโดยสารได้รวมการขึ้นราคา NGV ที่ 3 บาท/กิโลกรัมอยู่แล้ว การเพิ่มราคา NGV ในส่วนลดการชดเชยก็จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการขนส่ง เพราะผู้ประกอบการปรับขึ้นค่าโดยสารครอบคลุมราคา NGV ที่เพิ่มขึ้นแล้วมติกบง.ผ่อนเวลาให้ เราจะเริ่มขึ้นราคาครั้งแรก 16 พฤษภาคม เป็นต้นไปขึ้นทีละ 1 บาท ถัดไป 4 เดือนก็ขึ้นอีก 1 บาท ถัดไปอีก 4 เดือนก็ขึ้นอีก 1 บาท ไม่ได้ขึ้นรวดเดียว"นายศิริ กล่าว

นายศิริ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกบง.ยังได้อนุมัติให้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล (B100) ในสัดส่วน 10% หรือ B10 เป็นเกรดมาตรฐาน โดยจะมีมาตรการจูงใจการใช้ด้วยการให้ส่วนลดถาวรต่ำกว่าน้ำมันดีเซล B7 ในอัตรา 1 บาท/ลิตร ซึ่งสถานีบริการน้ำมันจะสามารถเลือกให้บริการ B7 หรือ B10 ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันค่ายรถญี่ปุ่น และค่ายเชฟโรเลตของสหรัฐ ให้การรับรองการใช้ โดยการผลิตออกมาจะอยู่ในมาตรฐานที่ยอมรับโดยสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) ที่ B100 จะต้องมีสัดส่วนปริมาณโมโนกลีเซอร์ไรด์ ที่จะต้องต่ำกว่า 0.4% โดยน้ำหนัก หรือเป็น B100 ที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นการวางจำหน่าย B10 ได้ในเดือนพ.ค.นี้

สำหรับส่วนลดราว 1 บาท/ลิตร จะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิต ในอัตรา 18 สตางค์/ลิตร ซึ่งต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเรื่องการลดภาษี และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยให้ 65 สตางค์/ลิตร จากปัจจุบันที่กองทุนฯเก็บเงินสำหรับ B7 ในอัตรา 20 สตางค์/ลิตร

ทั้งนี้ การสนับสนุนให้ใช้ B10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกมากขึ้นก็คาดว่าจะผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อผลิต B100 มากขึ้นด้วยตามลำดับ และจะผลักดันให้ราคา CPO และผลปาล์มขยับเพิ่มขึ้นด้วย โดยประเมินว่าหากมีการใช้เต็มรูปแบบตามเป้าหมายทั้งจาก B7 ที่เปลี่ยนมาเป็น B10 และการใช้ B20 ตามเป้าหมาย 15 ล้านลิตร/วัน ในอนาคต ก็คาดว่าจะทำให้เกิดการใช้ CPO รวมถึง 2.5 ล้านตัน/ปี จากที่ผลิตได้ทั้งหมดราว 3 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะทำให้คงเหลือสำหรับใช้ในการบริโภคเพียง 5 แสนตัน/ปี จากปัจจุบันที่การใช้ CPO เพื่อการบริโภคอยู่ที่ราว 9 แสนตันถึง 1 ล้านตัน/ปี

ส่วนในระยะสั้นกระทรวงยังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะช่วยดูดซับปริมาณ CPO ในตลาด ด้วยการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อ CPO เพิ่มเติมเพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หลังจากที่ปัจจุบันรับซื้อครบแล้วตามเป้าหมายที่ 1.6 แสนตันแล้ว หรือจะให้ปตท.พิจารณาซื้อเข้ามาเพื่อผลิตเป็น B100 เพื่อการส่งออก

สำหรับร่างกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศใน 120 วันนั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนการอุดหนุนราคาพลังงานทดแทน แต่ในเบื้องต้นได้กำหนดเป็นบทเฉพาะกาลชั่วคราว โดยให้เวลาอุดหนุนได้อีกเพียง 3 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ก่อนจะยกเลิกการอุดหนุนทั้งหมดนั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบมากนักเพราะในอนาคตรูปแบการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะมีการใช้เพียงแก๊สโซฮอลล์ E20 และ B20 เป็นหลัก ส่วน E85 ก็คงต้องยกเลิกไปเพราะจะไม่มีการสนับสนุน แต่ก็จะถูกทดแทนด้วยการใช้ E20 ที่เพิ่มขึ้นก็จะไม่กระทบต่อผู้ผลิตเอทานอล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ