นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 7,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน จำนวน 33,593 ล้านบาท เติบโต 13.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 20% เนื่องจากธนาคารได้รับเงินบางส่วนจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง และผลจากรายได้จากการดำเนินการอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 17.6% จากกำไรในการขายทรัพย์สินรอการขายและกำไรจากเงินลงทุน
ในส่วนของค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 19.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสำรองการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามเกณฑ์ระยะเวลาการถือครองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมิได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองในเรื่องอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างฯ ในงบการเงินเฉพาะสำหรับไตรมาส 1/2562 เนื่องจากธนาคารอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งหากพ.ร.บ. ดังกล่าวมีการปรับปรุงใด ๆ ธนาคารจะดำเนินการตามที่กำหนดต่อไป
สำหรับสินเชื่อของธนาคาร ณ 31 มีนาคม 2562 อยู่ที่ 2,032,879 ล้านบาท ขยายตัว 0.4% จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยสินเชื่อรายย่อยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น เงินฝากอยู่ที่ 2,077,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% ขณะที่อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) ที่ไม่รวมรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง อยู่ที่ 3.13% เพิ่มขึ้นจาก 3.07% ในไตรมาส 1/2561 จากการมุ่งเน้นการบริหารพอร์ตสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยง และการรักษาระดับต้นทุนทางการเงิน
จากนโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญอย่างสม่ำเสมอ ตามหลักความระมัดระวัง ธนาคารได้ทยอยเพิ่มระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 126.86% ณ 31 มีนาคม 2562 ขณะที่ธนาคารมี NPL Gross Ratio ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 4.50% และมี NPL Net Ratio คงที่อยู่ที่ 1.94%
สำหรับเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงและมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) อยู่ที่18.12% และ 14.29% ตามลำดับ ซึ่งธนาคารได้ประเมินความเพียงพอของอัตราส่วนดังกล่าวในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นไปตามเกณฑ์ของธปท. และครอบคลุมถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน