โบรกเกอร์ เห็นพ้องเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) คาดผลการดำเนินงานปีนี้ยังสดใส จากกำไรเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ที่ 496 ล้านบาท ซึ่งยังเติบโตดี จึงมองว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/62 จะยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ได้แรงหนุนจากสินเชื่อขยายตัวและระดับการตั้งสำรองฯที่ลดลง
อีกทั้งคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นจากการติดตามลูกหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และการขยายสินเชื่อ Fleet ที่มี NPL ต่ำ รวมทั้งรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัท อาร์ทีเอ็น อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด (RTN) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งใหม่ได้เต็มไตรมาส
ทั้งนี้ THANI มีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ที่ดีขึ้นสะท้อนจาก NPL ที่มีแนวโน้มลดลง และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่ลดลง จึงคาดว่าจะยังเติบโตดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 1,794-1,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 1,641 ล้านบาท จากสินเชื่อปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตราว 10-12%
พักเที่ยงหุ้น THANI อยู่ที่ 6.05 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ 0.82% ขณะที่ SET เพิ่มขึ้น 0.22%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 8.50 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 8.30 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 7.40 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 7.30
น.ส.สุนันทา วสะภิญโญกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า แนวโน้มกำไรของ THANI ยังเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกำไรไตรมาส 1/62 ที่เติบโตดี และยังต่อเนื่องในไตรมาส 2-4 ของปีนี้ด้วย จากสินเชื่อปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตราว 10-12% ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้บริหารของ THANI ได้ให้ข้อมูลไว้
นอกจากนี้ ราคาหุ้นก็ยังมี Upside เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ที่ 7.40 บาท/หุ้น พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 1,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 1,641 ล้านบาท
ทั้งนี้ THANI รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ที่ 496 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 36.5% จากงวดปีก่อน ดีกว่าที่คาดไว้ เกิดจากค่าใช้จ่ายสำรองฯที่ลดลง 68% จากไตรมาสก่อน และ 76% จากงวดปีก่อน ซึ่งน่าจะเกิดจากการกลับรายการสำรองฯทั่วไปที่ได้ตั้งไปเกินพอสำหรับมาตรฐานบัญชี IFRS9 ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 5.3% ลดลงจาก 5.42% ในไตรมาสก่อนเกิดจากการอ่อนตัวลงของ Loan yield น่าจะมาจากสัดส่วนสินเชื่อรถใหม่ที่เพิ่มขึ้น
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า THANI มีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ที่ดีขึ้น สะท้อนจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีแนวโน้มลดลง และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่ลดลง อย่างไรก็ตามในระยะสั้นราคาหุ้นจะยังได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงในการดำเนินงานหลังจากที่ THANI ได้ย้ายไปอยู่ภายใต้การควบคุมของบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) แทนธนาคารธนชาต (TBANK) ในด้านการสนับสนุนวงเงินกู้ แต่ก็มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวมีผลกระทบค่อนข้างต่ำ เนื่องจาก THANI มีสัดส่วนเงินกู้ยืม และหุ้นกู้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน (รวมถึง TBANK) อยู่เพียง 3% ของเงินกู้ยืมรวม และมองว่าราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบเหล่านี้แล้ว ขณะที่ผลการดำเนินงานมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสม
THANI รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ที่ 496 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน และงวดปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับที่คาด จึงมองว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/62 จะยังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนเช่นเดียวกัน จากการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นภายหลังที่มีความชัดเจนด้านการจัดตั้งรัฐบาล, คุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น จากการติดตามลูกหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และการขยายสินเชื่อ Fleet ที่มี NPL ต่ำโดยเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น รวมทั้งการดำเนินงานของ RTN เต็มไตรมาส
ส่วนบทวิเคราะห์บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่าผลการดำเนินงาน THANI ปีนี้น่าจะยังสดใส รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการต่อเนื่องและการลงทุนภาคเอกชนที่สูงขึ้น นอกเหนือจากนี้ประเด็นการควบรวมระหว่าง TBANK และธนาคารทหารไทย (TMB) ก่อนขั้นตอนการควบรวม TBANK จะต้องโอน THANI ให้แก่ TCAP ก่อน ซึ่งคาดปัจจัยดังกล่าวจะไม่กระทบ THANI อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของ THANI ยังมีสูง ขณะที่การสนับสนุนจากบริษัทแม่ส่วนใหญ่จะเป็นด้าน Back office มากกว่า
ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ของ THANI จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยสินเชื่อที่โตต่อเนื่องและระดับการตั้งสำรองที่ลดลง แม้ว่าแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังมีความไม่แน่นอน แต่มองว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของรัฐจะดำเนินหน้าต่อไปได้ภายใต้รัฐบาลใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีโครงการมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาทอยู่ในขั้นตอนการประมูลแล้ว ทำให้ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนความต้องการใช้รถบรรทุก
นอกจากนี้ คาดระดับการตั้งสำรองของ THANI จะผ่อนคลายลงในปี 62 เนื่องจากระดับสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ค่อนข้างเพียงพอแล้วสำหรับ IFRS9 ทำให้ความจำเป็นในการตั้งสำรองทั่วไปลดลง โดยยังคงสมมติฐานการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อปี 62 ที่ 12% แต่อาจมี Upside เพิ่มเติมจากตัวเลขสินเชื่อที่ยังขยายตัวแข็งแกร่งในไตรมาส 1/62 นอกจากนี้ คาดสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit Cost) จะอยู่ต่ำเพียง 80bps ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยรวมแล้ว พร้อมคงประมาณการกำไรสุทธิปี 62 ที่ 1,794 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว