นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนช่วง 6 ปี (ปี 62-67) เติบโตเฉลี่ยประมาณปีละ 20% หลังจะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ครบทุกโรงไฟฟ้าที่มีใน 3 ประเทศ จำนวน 33 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 6,721 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่ COD แล้ว 2,448 เมกะวัตต์
ส่วนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศปี 2561-2580 (PDP2018) ทำให้เห็นว่าโอกาสเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดขึ้นได้ยาก บริษัทจึงไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติม ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็จะเป็นขนาดเล็ก ส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ก็จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันแม้ในช่วงสั้น ๆ อาจจะมีโรงใหม่เพิ่ม 1-2 พันเมกะวัตต์เท่านั้น
แต่ในร่างแผน PDP2018 เห็นโอกาสการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในลาวที่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ก็มีโอกาสที่จะเข้ามาเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีเสถียรภาพและมีต้นทุนต่ำ เข้ามาชดเชยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ดังนั้น บริษัทก็ได้วางแผนเติบโตในอนาคต โดยมองโอกาสการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวที่มีการพัฒนาทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดเล็กตามริมแม่น้ำโขง ซึ่งบริษัทได้เริ่มศึกษาหลายโครงการเพื่อการพัฒนาและนำไฟฟ้ากลับมาขายในไทย ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในลาวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 ปี
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการพัฒนาโรงไฟฟ้าในเวียดนามต่อเนื่องจากปัจจุบันที่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้วราว 100 เมกะวัตต์ และมีโครงการพลังงานลมในมืออีก 300-400 เมกะวัตต์ รวมถึงศึกษาการทำโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในเวียดนามด้วย
ส่วนในโอมานที่ได้ร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิตติดตั้ง 326 เมกะวัตต์ ซึ่งจะ COD ในปี 63-65 ก็มองโอกาสศึกษาการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ , คลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ธุรกิจน้ำ เป็นต้น เพราะพื้นที่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นเสมือนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในไทย ที่มีโอกาสพัฒนาโรงไฟฟ้าได้เพิ่มเติมเพราะพื้นที่ดังกล่าวมีก๊าซฯทำให้มีโอกาสเกิดอุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังมองโอกาสผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศแถบนี้ด้วย โดยเฉพาะขณะนี้ที่มีการศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานลมในโอมาน
"ตอนนี้เราได้ทำโรงไฟฟ้าโรงแรกประมาณ 300 เมกะวัตต์ แต่ภายใน 10-20 ปีมองว่าจะขึ้นเป็นหลักพันเมกะวัตต์ได้ค่อนข้างสูง เพราะที่โน่นมีก๊าซฯ สามารถทำโรงกลั่นและปิโตรเคมีได้ เรามองเป็น Strategic ที่จะขยายไปอย่างอื่นได้"นายสารัชถ์ กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562
นายสารัชถ์ กล่าวว่า บริษัทให้ความสนใจธุรกิจพลังงานขั้นกลางในโอมาน โดยเฉพาะธุรกิจ LNG ทั้งในส่วนของสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและคลัง LNG เพื่อการส่งออก โดยจะเป็นการลงทุนร่วมกับพันธมิตร ถือหุ้นสัดส่วนราว 20-25% ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ แต่ยืนยันว่าจะไม่เข้าไปลงทุนในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ,โรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ในโอมาน
ส่วนความคืบหน้าการมองโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ นั้น ทางกลุ่มพันธมิตรยังคงศึกษาอยู่แต่คงไม่เห็นความชัดเจนในเร็ววันนี้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายค่อนข้างมาก
สำหรับการลงทุนใหม่ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันบริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) เข้าร่วมประมูลพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) หากได้รับคัดเลือกเป็นผู้ลงทุนก็คาดว่าจะเป็นเงินลงทุนของภาคเอกชนราว 7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแหลมฉบัง 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทร่วมกับปตท.และพันธมิตรจีนเข้าร่วมประมูล โดยคาดว่าจะถือหุ้น 30-40% ส่วนโครงการมาบตาพุด เป็นเงินลงทุนเอกชนราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทถือหุ้น 70% และปตท.ถือหุ้น 30%
ทั้งนี้ ยืนยันว่าหากบริษัทได้รับคัดเลือกลงทุนก็มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะดำเนินการได้ เพราะในแต่ละปีก็จะมีกระแสเงินสดเข้ามาต่อเนื่องตามการขยายงานของบริษัทและยังมีศักยภาพในการจัดหาเงินกู้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งในช่วง 6 ปีจากนี้บริษัทมีโครงการที่จะลงทุนเป็นมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งก็จะมาจากเงินลงทุนของบริษัทและเงินกู้โครงการ
นายสารัชถ์ กล่าวว่า การที่บริษัทจะหันมาร่วมทำโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) ซึ่งจะมีการสร้างคลัง LNG ด้วยนั้น เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในอนาคต แต่ในส่วนที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับปตท.เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า IPP 2 แห่ง รวม 5,000 เมกะวัตต์ที่จะทยอย COD ตั้งแต่ปี 64-67 นั้น ก็จะยังคงดำเนินการอยู่ เพราะการที่ไทยมีปตท.ดูแลสัญญาก๊าซฯทำให้ความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า
ส่วนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันนี้อนุมัติการออกหุ้นกู้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต ส่วนจะออกเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมว่าจะใช้ต้นทุนทางการเงินจากแหล่งใดที่ถูกที่สุด