นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 3.85 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) จำนวน 7 โครงการ กำลังผลิตรวมสุทธิรวมจำนวน 800 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 โดยเป็นโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP จาก 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 565 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุในปี 65 และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการที่ย้ายพื้นที่จากจ.ราชบุรี มาเป็นจ.อ่างทอง กำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินการดังกล่าว และโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 3,245 เมกะวัตต์ภายในปี 68 จากปัจจุบันที่ COD จำนวน 2,200 เมกะวัตต์ จากพอร์ตโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในไทย, ลาว,เวียดนาม ซึ่งในส่วนนี้ราว 70% เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และ 30% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำและลม
นางปรียนาถ ยืนยันว่า การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ (Replacement) นั้นมีความเหมาะสม เพราะนอกจากจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้จะลดลงเหลือ 30 เมกะวัตต์/โครงการ จากเดิม 90 เมกะวัตต์/โครงการ แต่การที่พื้นที่โรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้นคร และอมตะซิตี้ระยอง รวมถึงในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ขณะที่การซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ ทำให้บริษัทยังมีโอกาสขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันก็มีลูกค้าเซ็นสัญญาใหม่เพิ่มเติม
ทั้งนี้ บริษัทจะยื่นแผนดำเนินงานสำหรับโรงไฟฟ้า SPP Replacement ให้กับกฟผ.ภายในเดือนพ.ค. หลังจากนั้นคาดว่ากฟผ.จะออกหนังสือรับซื้อไฟฟ้าให้ในปลายเดือนส.ค. หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ต่อไป
เบื้องต้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 7 โครงการ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตราว 140 เมกะวัตต์/โครงการ มูลค่าลงทุนราว 5.5-6 พันล้านบาท/โครงการ ซึ่งจะมาจากเงินกู้โครงการราว 70% และเงินส่วนทุนอีก 30% โดยในส่วนนี้ที่เป็นโรงไฟฟ้า SPP ย้ายพื้นที่จำนวน 2 โครงการนั้นจะยังคงมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.เท่าเดิมที่ 90 เมกะวัตต์/โครงการ
สำหรับโครงการพัฒนาตลาดการซื้อขายไฟฟ้าเสรีสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระบบโคเจนเนอเรชั่น (SPP Cogeneration) ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น เห็นว่าเป็นการพัฒนาตลาดไฟฟ้าที่เป็นโอกาสทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งในกรณีพื้นที่ความต้องการไฟฟ้าสูงแต่มีกำลังผลิตน้อย เช่นภาคใต้การแข่งขันต่ำราคาอาจสูง แต่ในพื้นที่มีการแข่งขันสูงราคาก็อาจต่ำ และเพื่อเพิ่มการแข่งขันภาครัฐน่าจะนำส่วนสำรองไฟฟ้าของ SPP จำนวน 5% ตามข้อกำหนดของภาครัฐ เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ด้วย ทั้งนี้ หากหลักเกณฑ์มีความชัดเจนอาจจะนำโครงการลงทุน SPP ใหม่ทั้ง 7 แห่งเข้าร่วมโครงการด้วย
นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในมาเลเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ โดยในเร็ว ๆ นี้คาดว่าจะประกาศการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลีใต้ ขนาด 36 เมกะวัตต์ได้ ขณะเดียวกันยังมองการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในไทย รูปแบบ Private PPA โดยปัจจุบันมีลูกค้าในมือแล้ว 200 เมกะวัตต์ ขณะที่มีลูกค้าที่เซ็นสัญญาแล้ว 70 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟฟ้าแล้ว 6.5 เมกะวัตต์ และคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะจ่ายไฟฟ้าได้ราว 20-25 เมกะวัตต์ โดยมีลูกค้าสำคัญเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า โกดังสินค้า อาคารพาณิชย์ โรงงาน เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ที่บริษัทได้รับสิทธิดำเนินการจากกองทัพเรือนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการเซ็นสัญญา PPA โดยยังรอความชัดเจนที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเข้าร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เข้ายื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งหากกลุ่มนี้เป็นผู้ชนะประมูล บริษัทก็มีโอกาสที่จะได้เข้าพัฒนาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายในสนามบินด้วย ซึ่งก็จะทำให้อาจมีการปรับรูปแบบการลงทุนที่บริษัทได้รับสิทธิจากกองทัพเรือใหม่ด้วย
สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ บริษัทวางเป้าหมายที่จะลดต้นทุนทางการเงินต่อเนื่องเหลือ 4.2-4.4% จากสิ้นปี 61 ที่อยู่ระดับ 4.6% จากทั้งการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินและการออกหุ้นกู้ รวมถึงวางแผนลดระยะเวลาการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเหลือ 14 วันจากเดิมที่ใช้เวลา 22-24 วัน และอนาคตวางเป้าหมายที่จะลดเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียวในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงลงด้วย