โกลเบล็ก มอง SET รับปัจจัยบวกตปท.แต่ภายในยังกดดันทั้งศก.-การเมือง ฉุดดัชนีแกว่งกรอบ 1,660-1,685 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 30, 2019 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยตอบรับปัจจัยบวกจากการรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐในไตรมาส 1/2562 ประมาณการเบื้องต้นครั้งที่ 1 อยู่ที่ระดับ 3.2% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 2.5% และสูงกว่า 2.2% ในไตรมาส 4/2561 ทำให้คลายกังวลปัจจัยเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ซึ่งได้แรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ

อีกทั้งจีนเปิดเผยผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมพุ่งขึ้น 13.9% ในเดือนมี.ค. พลิกจากที่ลดลง 14% ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. โดยมูลค่าอุตสาหกรรมรวมขยายตัว 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับระดับในเดือนม.ค.-ก.พ.และกระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (30 เม.ย.)

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงน่าติดตาม คือ การรายงานดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรซึ่งวัดรายได้เกษตรกรในเดือนมี.ค. 62 ลดลง 4.03% จากเดือนมี.ค. 61 เนื่องจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง โดยดัชนีรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มทรงตัวในเดือนพ.ค. และปัจจัยการเมืองยังไม่แน่นอน ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล กดดันภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาว

อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.จะมีการกำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งนักวิเคราะห์คาดที่ประชุมตรึงดอกเบี้ย 2.25-2.50% และวันที่ 30 เม.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม รวมทั้งจีน เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนเม.ย.เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผย GDP ไตรมาส 1/2562 อัตราว่างงานเดือน มี.ค. สหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาบ้านเดือนก.พ. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมี.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.

ส่วนวันที่ 1 พ.ค. สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนเม.ย. ดัชนีภาคการผลิตเดือน เม.ย. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ และคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (เช้าวันที่ 2 พ.ค.) และวันที่ 2 พ.ค. จีน เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนเม.ย. อียูเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน เม.ย. ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย สหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือน เม.ย. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค. และวันที่ 3 พ.ค. อียูเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน เม.ย.

ด้านนายสรรพกัณฑ์ ปัมทบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก คาดว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,660 - 1,685 จุด จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสถูกเพิ่มน้ำหนักลงทุนในดัชนี MSCI แต่ยัง Laggard (ราคาปรับขึ้นต่ำกว่า 5%YTD) เช่น BH, TRUE, IRPC, PTTGC, BDMS, CPN, HMRPO, SCC

สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ มองว่าราคาทองคำสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมายืนเหนือแนว 1,280 ดอลลาร์/ออนซ์ ได้อีกครั้ง ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับระยะสั้น แต่การดีดขึ้นดังกล่าวยังไม่พ้นกรอบแนวโน้มขาลง ทำให้ภาพในระยะกลางยังคงเป็นลบ อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงหนุนจากโอกาสที่สูงขึ้นที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปีหน้า ทำให้สกุลเงินดอลลาร์ถูกกดไม่ให้แข็งค่ามากนัก แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจและภาวะสงครามการค้ากำลังดีขึ้นก็ตาม ราคาทองคำจึงมีโอกาสจะปรับตัวขึ้นไปทดสอบระดับ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์

ทั้งนี้ แนะนำให้ปรับมาเล่น swing trade ระหว่าง 1,280–1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ และพอร์ตระยะกลางควรลดการถือครองทองคำหรือแบ่งเปิดสถานะ short ในกรณีที่ราคาไม่สามารถทะลุขึ้นไปยืนเหนือ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ ได้อย่างมั่นคง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ