นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง (CK) กล่าวว่า ณ สิ้นปี 61 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) มูลค่า 48,965 ล้านบาท และในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท
ท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทมุ่งเน้นงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมที่จะออกประมูล รวมถึงโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 179,412 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ มูลค่า 143,000 ล้านบาท โครงการทางสายพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนองมูลค่า 30,437 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 55,620 ล้านบาท รถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 9 เส้นทาง มูลค่ารวม 397,084 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามูลค่า 200,000 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับโครงการในต่างประเทศจะเน้นโครงการในแถบโซนเอเชีย และบริษัทจะเน้นในด้านการประมูลงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยและผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยบริษัทในกลุ่มกำลังดำเนินการศึกษาแนวทางในการลงทุน และ CK พร้อมรับงานก่อสร้าง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางด่วนย่างกุ้งในประเทศเมียนมา มูลค่า 400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และ โครงการพัฒนาระบบน้ำประปาในประเทศศรีลังกา รวมถึงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว ซึ่ง บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) กำลังเจรจากับรัฐบาลลาวอยู่ คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าเร็ว ๆ นี้
นางสาวสุภามาส กล่าวอีกว่า สำหรับงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 48,965 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 25,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปีถัดไป ทำให้บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้แบบ Conservative ไว้ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมที่จะเข้าประมูลงานใหม่ ขณะที่จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับ 8% ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนเข้ามาสนับสนุนผลการดำเนินงานด้วย
อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทก็เตรียมเข้าประมูลงานมูลค่าประมาณ 2-3 แสนล้านบาท คาดหวังได้งานราว 20% ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ , โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก, รถไฟทางคู่สายใหม่ 9 เส้นทาง ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดประมูลในส่วนของ เส้นทางบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 60,351 กิโลเมตร, เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 59,924 กิโลเมตร, เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 26,065 กิโลเมตร และเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 7,941 กิโลเมตร เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังติดตามงานโครงการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมือง 3 เส้นทาง คือ สายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 3
นอกจากนี้ยังมีงานที่อยู่ระหว่างการประมูลในขณะนี้ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติในวันที่ 28 พ.ค.62 จากนั้นจะดำเนินการในส่วนของการลงนามสัญญาระหว่างภาครัฐและกลุ่มซีพี คาดจะเห็นการลงนามได้ในวันที่ 15 มิ.ย.62, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 2 แสนล้านบาท บริษัทได้ยื่นซองประมูลไปแล้ว และยังอยู่ระหว่างรอผลการประมูล
โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ โซนเอ คาดยื่นซองประมูลได้ในวันที่ 30 ก.ค.นี้, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะเข้ายื่นซองประมูลงานบริหารงานได้ในวันที่ 27 มิ.ย.62 ซึ่งบริษัทจะเข้าไปรับงานในส่วนก่อสร้าง มูลค่า 7,000 ล้านบาท, โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย คาดเตรียมยื่นซองประมูลในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ในเส้นทางแก่งคอย-กลางดง ระยะทาง 30 กิโลเมตร มูลค่า 11,064 ล้านบาท, ช่วงลำตะคอง-โคกกรวด ระยะทาง 38 กิโลเมตร มูลค่า 11,655 ล้านบาท และช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 30 กิโลเมตร มูลค่า 11,240 ล้านบาท, โครงการทางพิเศษ พระราม 3-ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกตะวันตก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอผลประมูลงานอยู่ และงานโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คาดจะลงนามสัญญาในเดือนมิ.ย.62
ส่วนงานที่จะส่งมอบได้ในปีนี้ ได้แก่ โครงการเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว มูลค่า 135,000 ล้านบาท มีความคืบหน้า 93% โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4/62 , โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) สัญญา 2 ความคืบหน้า 99%, โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) สัญญาที่ 6 ความคืบหน้า 60%, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี) สัญญาที่ 1, 2 และ 5 มีความคืบหน้า 20%
"เรามั่นใจด้วยความพร้อมในด้านต่าง ๆ เราสามารถเข้าไปประมูลงานในโครงการขนาดใหญ่ ๆ ทั้งหมดที่จะออกมา แต่ด้วยสภาวะอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ บริษัทจึงมีนโยบายที่จะไม่เข้าประมูลงานที่มีการแข่งขันด้านราคามากเกินไป หรือในงานที่ต่ำกว่าต้นทุน แต่จะเข้าประมูลงานในโครงการที่มีขนาดใหญ่ หรือมีเอ็นจิเนียริ่ง โนฮาว ขณะที่บางโครงการก็จะมีการจับมือกับพันธมิตร หรือการร่วมลงทุนเพื่อเข้าประมูลงาน อย่างไรก็ตามเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจนับจากนี้เป็นต้นไป เราต้องการให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง ซึ่งจะไม่ได้เน้นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด"นางสาวสุภามาส กล่าว