นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index :ICI) ประจำเดือน พ.ค.62 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.62) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สอง โดยผลสำรวจพบว่าปัจจัยในประเทศจากสถานการณ์การเมืองภายหลังการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่เสถียรภาพรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งและผลการเจรจานโยบายการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน
ทั้งนี้ ดัชนี ICI สำรวจเดือน เม.ย.อยู่ที่ 104.49 ปรับตัวลดลง 2.83% อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) ซึ่งเป็นช่วงค่าดัชนี 80-119 โดยดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับตัวลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) ,กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) ,นักลงทุนรายบุคคลปรับตัวอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม
นักลงทุนสนใจลงทุน หมวดพลังงาน และสาธารณูปโภค (ENERG) หมวดพาณิชย์ (COMM) และหมวดการแพทย์(HELTH) มากที่สุด ขณะที่มองว่าหมวดเหมืองแร่ (MINE) หมวดสิ่งพิมพ์ (MEDIA) และหมวดธนาคาร (BANK) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด
"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่สอง โดยกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อนจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ทรงตัวมาอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรง"นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือน เม.ย. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1,644-1,675 จุด ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทาง Sideway Up โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดยังคงเป็นปัจจัยในประเทศจากสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการประกาศผลเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเดือนพฤษภาคม ขณะที่ปัจจัยการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นในลำดับรองลงมา
ขณะที่ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งยังคงเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการปรับคาดการณ์ลดลง
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเป็นไปได้กรณีมีการปรับลดอัตรานโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผลกระทบความคืบหน้า และการคาดหวังการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนร่วมกันในเดือนพฤษภาคม กรณีพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ในเรื่องการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมการบินที่อาจส่งผลต่อการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน โมเมนตัมทางเศรษฐกิจของ EU ที่อ่อนแอลงและเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงต่อจากนี้ และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี
ทิศทางการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ภายหลังการเลื่อนเส้นตายข้อตกลงจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม แนวโน้มการชะลอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ของจีนขยายตัว 6.4% ดีกว่าคาด และผลกระทบราคาน้ำมันภายหลังสหรัฐฯ ยุติผ่อนผันการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน
สำหรับดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน พ.ค.62 พบว่าผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอีก 10 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (19 เม.ย. 62) อันเป็นผลมาจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัว รวมถึงการยังคงอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกของประเทศต่างๆ
ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน พ.ค.62 ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน พ.ค.นี้ อยู่ที่ระดับ 60 เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์"ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged) สะท้อนมุมมองของตลาดที่มีจำนวนมากขึ้นว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน พ.ค.นี้มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ส่วนใหญ่ของตลาดยังมองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงที่อยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อไป โดยให้น้ำหนักกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยหลัก
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ในรอบการประชุม กนง.เดือน มิ.ย.62 (ประมาณ 10 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 74 ลดลงจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ "มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (Increase)" จากระดับ 2.14% ณ วันที่ทำการสำรวจ (19 เม.ย. 62) เช่นเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ที่ดัชนีคาดการณ์ลดลงจากครั้งที่ผ่าน มาอยู่ที่ระดับ 72 คงอยู่ในเกณฑ์ "มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (Increase)" จากระดับ 2.54% ณ วันที่ทำการสำรวจ (19 เม.ย. 62) โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจาก Fund flow จากต่างชาติ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้