นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มไทยต้องเผชิญในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนข้อเสียเปรียบจากธุรกิจที่มีขนาดเล็ก โดยอุปสรรคหลัก ได้แก่ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ทำให้ความคาดหวังของลูกค้าซับซ้อนขึ้น การขาดประสบการณ์และความรู้ในบางมุม เช่น การเข้าสู่ตลาดออนไลน์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อีกทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ทำให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือใน 3 ด้านหลัก
โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ที่จะต้องเจาะตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ได้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยไม่สูงมาก โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหาของเอสเอ็มอีและได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐมีโครงการต่าง ๆ สนับสนุน เช่น ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสาหกรรม (SSRC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ให้คำปรึกษาในเรื่องหลัก ๆ และสามารถเชื่อมโยงไปยังโครงการของหน่วยงานอื่น ๆ ลดความจำเป็นที่ต้องติดตามว่าหน่วยงานใดมีทรัพยากรอะไรบ้าง หรือ One-Stop Service Center (OSS Center) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีบริการในลักษณะเดียวกัน โดยมีศูนย์ OSS ครอบคลุม 76 จังหวัด
"ธนาคารแนะนำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยอาจเริ่มจากศูนย์ SSRC ที่ให้คำปรึกษาและเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเบื้องต้นได้ แต่การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น สิ่งที่สำคัญจะต้องเขียน Proposal ที่มีความน่าสนใจและถูกวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้ประกอบธุรกิจ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น"นายพชรพจน์ กล่าว
นอกจากนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการตัวช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับการผลิตสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างความแตกต่าง เพื่อเป็นจุดขายนั้น สามารถติดต่อศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industrial Transformation Center: ITC) เพื่อขอรับคำปรึกษาด้านการผลิตแบบครบวงจร ทั้งการวิเคราะห์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ จัดหาผู้ผลิต บริการด้านวิศวกรรม การรับรองมาตรฐานและการทดสอบตลาด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ส่วนกรณีต้องการบุกตลาดออนไลน์ ในยุค Platform Economy สามารถเข้าร่วมโครงการและติดต่อหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการ SME Online by OSMEP ที่บ่มเพาะเอสเอ็มอี ถึงทำการตลาดจริงผ่าน Platform Thaitrade.com ซึ่งเป็นช่องทางการขายสินค้าไปต่างประเทศ และ New Economy Academy (NEA) แหล่งรวบรวมความรู้และหลักสูตรอบรมต่างๆ
โดยจะเห็นว่าตลาดซื้อขายออนไลน์ หรือ e-Commerce ของไทยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14% โดยเฉพาะรูปแบบ B2C ครองแชมป์อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน แต่การประสบความสำเร็จต้องมีความพร้อมหลายด้าน โดยเฉพาะการทำ Digital Marketing จึงน่าจะใช้ตัวช่วยจากภาครัฐ สำหรับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งภาครัฐมีโครงการดี ๆ มานาน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านหลักประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) สินเชื่อสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) ตลอดจนสินเชื่อสำหรับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น
สำหรับภาพรวมของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงมีความสำคัญในการช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้ โดยในปี 61 ที่ผ่านมา สัดส่วนของเอสเอ็มอี คิดเป็น 43% ของ GDP ประเทศที่ 10 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนของเอสเอ็มอีราว 5 ล้านล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมดรวม 3 ล้านราย และทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเอสเอ็มอีมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่มีธุรกิจเอสเอ็มอีเพียง 520,000 ราย จากทั้งหมด 3 ล้านราย ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจได้ ทำให้เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่ค่อยได้ ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือจากภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมีความแขึงแกร่งมากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน