(เพิ่มเติม) กสทช.จี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแจ้งคืนใบอนุญาตฯภายใน 10 พ.ค.พร้อมรับเงินชดเชยใน 90 วัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 7, 2019 18:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้มีการออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลได้ศึกษาหลักเกณฑ์ดังกล่าวในการตัดสินใจแล้ว ขณะนี้ใกล้จะถึงกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลที่มีความประสงค์จะคืนใบอนุญาตมายื่นความประสงค์ต่อสำนักงาน กสทช.ภายในวันที่ 10 พ.ค.62 และไม่สามารถขอยกเลิกความประสงค์ดังกล่าวในภายหลังได้

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ยื่นความประสงค์จะคืนใบอนุญาตฯ แล้วจะต้องส่งเอกสารให้กับทาง กสทช.ไม่เกิน 60 วัน จากนั้นจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่ออนุมัติ กำหนดวันเยียวยาให้กับประชาชน หรือแจ้งการยุติการออกอากาศไม่น้อยกว่า 30 วัน และเมื่อยุติการออกอากาศเรียบร้อยแล้ว ทาง กสทช.จะดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้ทันที โดยจะนำเงินจากกองทุนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทปส.) ชดใช้ให้คืนไปก่อน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้ใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.62

สำหรับสูตรเบื้องต้นการคำนวณของระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือ หรือเหลืออยู่ 10 ปี จากอายุใบอนุญาตทั้งสิ้น 15 ปี โดยเงินที่ได้มีการชำระค่าบำรุงไปแล้ว (งวดที่ 1-4) จะนำมาคูณด้วย 10 หารด้วย 15 ขณะที่ก็จะนำผลประกอบการมาดูควบคู่ด้วย หากบริษัทได้กำไรก็จะนำมาหัก ส่วนผู้ที่ขาดทุนก็จะคืนเต็มจำนวน ประกอบกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลเคยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ได้แก่ เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (MUX) จำนวนเงิน 900 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค.63 และการสนับสนุนค่ามัสต์แครี (Must Carry) จำนวน 700 ล้านบาท/ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.62 ก็จะนำมาหักออกไปเช่นกัน

"สูตรการคำนวณเบื้องต้น จะใช้ใบอนุญาตที่เหลืออยู่อีก 10 ปีครึ่ง ซึ่ง 10 ปีครึ่งจะเป็นเงินที่เราจะได้ นำมาคูณกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปในงวดที่ 1-4 และหารด้วย 15 ออกมาคือจะเป็นจำนวนเงินที่จะได้คืน และจะนำไปหักกับค่าใช้จ่าย สิทธิประโยชน์ที่ได้รับต่อไป"

ส่วนการเรียงช่องทีวีดิจิตอลใหม่นั้น ทางกสทช.จะมีการพิจารณาภายหลัง

ด้านนายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาถึงข้อเสนอและเงินชดเชยที่ทางกสทช.เสนอให้ ภายใน 2-3 วันนี้ เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งว่าจะคืนใบอนุญาตช่องทีวีดืจิทัลหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นมองว่าจะคืนหรือไม่คืนใบอนุญาตก็มีแต่ได้ประโยชน์

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าหลังจากผ่านวันที่ 10 พ.ค.62 ไปแล้วจะทำให้เห็นความชัดเจนของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลมากขึ้นว่าจะมีผู้ประกอบที่เหลืออยู่ในอุตสาหกรรมกี่ราย และจะมีการปรับตัวอย่างไร ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจระยะยาวโดยคาดว่าจะความชัดเจนภายในไตรมาส 2/62

ด้านนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจในขณะนี้ว่าจะคืนใบอนุญาตฯ หรือไม่ โดยจะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในช่วงเช้าของวันที่ 10 พ.ค.62 เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับฟังหลักเกณฑ์ ของกสทช. ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังตอบได้ไม่ชัดเจน ทำให้ยังมีคำถามอยู่บางเรื่อง โดยหลังจากนี้บริษัทจะเข้าหารือกับทางกสทช.เพื่อขอความชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนายฉาย บุนนาค รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) กล่าวว่า คงไม่คืนใบอนุญาตช่องเนชั่นทีวี 22 เพราะเป็นช่องที่อยู่ในเนชั่นบรอดแคสติ้งซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ส่วนช่องNOW 26 จะนำข้อมูลที่ฟังจาก กสทช.ในวันนี้กลับไปพิจารณาในที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเรียกประชุมด่วนในวันที่ 9 พ.ค. แต่ส่วนตัวมองว่าเมื่อมีหลักเกณฑ์ออกมาแล้วก็ต้องว่าไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนการพิจารณาตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละราย

อนึ่ง วันนี้ สำนักงาน กสทช. จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ โดยผู้ประกอบการสอบถามข้อสงสัยในการขอคืนใบอนุญาตโดยเฉพาะประเด็นสูตรคำนวณค่าชดเชยในการคืนใบอนุญาต

ขณะที่นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฏหมายไอที กล่าวว่า ต้องดูต้นทุนของแต่ละช่องว่าเป็นอย่างไรที่ผ่านมาสภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง แนวโน้มการบริโภคสื่อมุ่งไปที่ OTT การเปิดโอกาสให้คืนใบอนุญาตได้อาจจะเป็นที่ต้องการของช่องที่มีต้นทุนประกอบการมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากรู้คือสูตรที่ใช้คำนวณใบอนุญาตที่ชัดเจนเป็นอย่างไร ถ้ามีการคืนใบอนุญาตจำนวนมากโอกาสที่ กสทช.จะได้คลื่นมาจัดสรรจะมีมากขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้ประกอบการจะใช้ตัดสินใจคือการเปรียบเทียบ สิ่งที่จ่ายไปกับสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่าหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ