นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ออกบทความเรื่อง "คำถามสำคัญในการจัดสรรคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์" ว่า การผลักดันมาตรการเพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัล โดยการนำคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์(MHZ) ไปจัดสรรให้กับค่ายมือถือพร้อมเงื่อนไขให้ผ่อนค่าคลื่น 900 MHz โดยไม่คิดดอกเบี้ยอาจดูราบรื่นเพราะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่ในคำสั่ง คสช. กำหนดให้สำนักงาน กสทช. ออกหลักเกณฑ์อีกไม่น้อย ดังนั้น จึงทำให้เกิดคำถามทางกฎหมายตามมาในหลายประเด็น คำถามที่น่าสนใจที่มีการหยิบยกมากล่าวถึง ดังนี้ การใช้มาตรา 44 ทำให้ทุกฝ่ายไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายจริงหรือไม่ แม้คำสั่งตามมาตรา 44 จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย แต่หลักเกณฑ์ที่ออกตามคำสั่งอาจไม่ได้รับความคุ้มครองด้วยโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่หลักเกณฑ์ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ จะต้องมีผู้รับผิดทางกฎหมายหรือไม่ และแม้ว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจวินิจฉัยและให้ถือเป็นที่สุด แต่มิได้หมายความว่า หากวินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือทำให้รัฐเสียหาย จะสามารถอ้างมาตรา 44 เป็นเกราะกำบังได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ค่ายมือถือค่ายใดมีสิทธิขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHzเพื่อผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz ในคำสั่ง คสช. ได้ระบุเจตนาชัดเจนว่า เพื่อจัดการปัญหาความสามารถชำระค่าคลื่นตามกำหนด และตามข้อ 5 ของคำสั่งระบุให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ชำระเงินตามเงื่อนไขการประมูลเดิม แต่หากไม่สามารถชำระได้ จึงให้แจ้งสำนักงาน กสทช. ตามข้อ 6 กรณีค่ายมือถือที่ไม่มีปัญหาผลประกอบการและยังมีเงินปันผลเป็นจำนวนมาก ย่อมไม่ใช่กรณีตามข้อ 6 หากมาขอใช้สิทธิทั้งที่รู้ว่าไม่เข้าเงื่อนไข อาจเข้าข่ายการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และในกรณีที่ทำให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหายก็ย่อมต้องรับผิดทางกฎหมายต่อไป ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่พิจารณาให้มีการผ่อนชำระโดยไม่เข้าเงื่อนไขตามคำสั่ง ก็คงต้องรับโทษตามกฎหมายเช่นกันใช่หรือไม่ เพราะคำสั่งดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ให้ชำระค่าคลื่นตามเดิม ยกเว้นกรณีไม่สามารถชำระได้ จึงมีสิทธิขอผ่อนผัน
เอกชนที่มีเจตนาใช้สิทธิทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายและทำให้รัฐเสียประโยชน์ ผู้บริหารจะมีความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่ หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีการดำเนินการโดยขาดความรอบคอบ ไม่ระมัดระวัง หรือไม่ซื่อสัตย์ และไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยทำให้รัฐเสียหายจะเป็นความผิดและมีโทษประการใด และกระทบต่อภาพลักษณ์ธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ รวมถึงจะกระทบต่อการดำเนินการในตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนหรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้ มีช่องรายการทีวีดิจิทัลใดได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ตามข้อ 12 (1) ของคำสั่งบ้าง เนื่องจากในคำสั่งข้อ 12 กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นว่า ช่องรายการทีวีดิจิทัลที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าคลื่นงวดท้ายๆ และได้รับการสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ด้วย ต้องเป็นช่องที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 700 MHz จำแนกเป็น 2 ธุรกิจย่อย คือช่องรายการและผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ในกรณีที่ไม่ได้รับผลกระทบย่อมไม่ได้รับสิทธิตามข้อ 12 ใช่หรือไม่
การพยายามเหมารวมว่าทุกช่องรายการได้รับผลกระทบโดยไม่มีการพิสูจน์นั้น อาจเป็นการใช้ดุลพินิจที่ทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ เพราะการเตรียมคลื่นย่าน 510-790 MHz เพื่อรองรับช่องรายการทีวีดิจิทัลที่ผ่านมานั้น สำนักงาน กสทช. ระบุว่ามีเป้าหมายให้รองรับได้ถึง 48 ช่องรายการ การที่จะบีบคลื่นลง 90 MHz ช่องทีวีดิจิทัลหลักที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังสามารถให้บริการได้ตามสิทธิเดิม ประชาชนเพียงแต่ต้องปรับจูนเครื่องรับโทรทัศน์ก็สามารถรับชมได้ตามปกติ แต่ช่องรายการที่ได้รับผลกระทบจริงคือช่องรายการที่ยังไม่เกิด อย่างเช่น ทีวีชุมชนหรือทีวีสาธารณะ
นอกจากคำถามสำคัญเหล่านี้แล้ว ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งราคาคลื่น 700 MHz ซึ่งปรากฏข่าวในสื่อมวลชน ว่า สำนักงาน กสทช. จะจัดสรรคลื่น 700 MHz โดยแบ่งคลื่นเป็น 3 ชุด ชุดละ 2x15 MHzราคาชุดละประมาณ 25,000 ล้านบาท ผ่อนชำระ 10 ปีโดยไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลาอนุญาต 15 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ประเมินว่า เท่ากับมูลค่าปัจจุบันเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้น และไม่เหลือคลื่น 700 MHz ไว้จัดสรรให้กับรายอื่นได้อีกเลย เท่ากับเป็นการปิดกั้นการแข่งขัน เมื่อคำนวณราคาคลื่น 25,000 ล้านบาท จะเท่ากับราคาคลื่นต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อจำนวนประชากรเพียง 12 บาท แต่หากคำนวณที่มูลค่าปัจจุบัน 15,000 ล้านบาทจะเหลือเพียง 7 บาท ในขณะที่ราคาชนะประมูลคลื่น 700 MHz ต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อจำนวนประชากรในอิตาลีอยู่ที่ 20 บาท ในออสเตรเลียอยู่ที่ 25 – 55 บาท ในสวีเดนประมาณ 16 บาท
นายประวิทย์ ระบุว่า ทำไมประเทศไทยจึงปล่อยให้เกิดการผูกขาดตลาดด้วยราคาคลื่นที่ต่ำจนเหลือเชื่อ ประโยชน์จากการผูกขาดตลาดจะสร้างผลตอบแทนให้กับเอกชนมหาศาล เงินค่าคลื่นที่ผ่อนให้รัฐในแต่ละปีคงจะน้อยกว่าเงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้นเสียอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่สำนักงาน กสทช. จะมั่นใจว่า ค่ายมือถือหลักทั้งสามจะมาขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผูกขาดตลาด เราอาจจัดสรรคลื่นให้เป็นชุดละ 2x10 MHz ก็จะเหลือคลื่นไว้อีก 2x15 MHz สำหรับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ และสามารถปรับราคาคลื่นต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อจำนวนประชากรให้ใกล้เคียงกับราคาในต่างประเทศ รัฐก็จะยังคงได้เม็ดเงินจากการจัดสรรคลื่นในรอบนี้เท่าเดิม โดยที่ยังคงมีคลื่นเหลือให้จัดสรรในโอกาสต่อไป ส่วนผู้ประกอบการทั้งสามรายต่างก็มีคลื่น 900 MHz อยู่เดิม เมื่อรวมแล้วยังคงเพียงพอที่จะให้บริการได้
การให้ผ่อนค่าคลื่นเป็นเวลานาน เท่ากับเป็นการลดราคาคลื่นตามมูลค่าปัจจุบัน ประโยชน์ที่รัฐจะได้รับก็จะลดลงไป ตามหลักการจัดสรรคลื่นแล้ว ต้องทำให้ค่าคลื่นเป็นต้นทุนจม คือการจ่ายครั้งเดียวหรือน้อยครั้งที่สุด การยืดระยะเวลาการผ่อนจะทำให้ค่าคลื่นกลายเป็นต้นทุนดำเนินการซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภครุนแรงกว่าต้นทุนจม แต่หากจะยืนยันการจัดสรรตามข่าว โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 44 ก็จะไม่ต่างจากการใช้มาตรา 44 ในการเอื้อประโยชน์เอกชนอย่างสุดกำลังหรือไม่ ส่วนคำถามทางกฎหมายทั้งหลายนั้น หากยังไม่มีผู้ใดตอบ ก็จะเป็นระเบิดเวลาสำหรับอนาคต เพราะการทำให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหายนั้น เมื่อความผิดสำเร็จก็มีอายุความอีกหลายปี หน่วยงานตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐสามารถหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาดำเนินคดีเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ โดยอาจเฝ้ารอเวลาของการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ไปสู่ระบอบที่การตรวจสอบถ่วงดุลทำงานได้ตามปกติ ไม่ถูกกดทับด้วยอำนาจพิเศษ