นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้เสนอข้อสรุปแผนการสร้างโรงไฟฟ้ามั่นคงภาคตะวันตก จำนวน 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 67-68 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเห็นควรให้ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นผู้ดำเนินการทั้ง 2 โรง เนื่องจากสามารถเจรจาค่าไฟฟ้าได้ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าของทุกระบบในปัจจุบัน และมีความเหมาะสมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ตั้งในพื้นที่เดิมใน จ.ราชบุรี ซึ่งกบง.ก็ได้อนุมัติตามที่ กกพ.เสนอไป
"กกพ.เสนอให้เจ้าเดิมทำทั้ง 2 โรง ให้ราชบุรีดำเนินการเลยทั้ง 1,400 เมกะวัตต์ เราดูผลประโยชน์ของประเทศ ราคาที่เจรจาได้ราคาที่ถูกกว่า"นายเสมอใจ กล่าว
นายเสมอใจ กล่าวว่า หลังจากนี้ กบง.จะส่งมติที่รับรองอย่างเป็นทางการกลับมาให้ กกพ.พิจารณาเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับกลุ่ม RATCH ต่อไป
อนึ่ง การสร้างโรงไฟฟ้ามั่นคงภาคตะวันตกทั้ง 2 โรงดังกล่าวเป็นไปตามแผนตามพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 67-68 โดยส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี ขนาด 700 เมกะวัตต์ ของ RATCH ที่จะหมดอายุในเดือน ก.ค.63 และเพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าป้อนให้กับภาคใต้ โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง คาดว่าจะมีอายุสัญญา 25 ปี ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
นายเสมอใจ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการ "โซลาร์ภาคประชาชน" คาดว่าจะเริ่มออกประกาศรับจดทะเบียนในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยจะเป็นโครงการนำร่องการรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคารที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้เข้าสู่ระบบได้ ในขนาดการติดตั้งประมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี