บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 9 พ.ค.มีมติเป็ นเอกฉันท์อนุมัติในหลักการให้บริษัท สปริง 26 จำกัด หรือเดิมชื่อบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ซึ่ง NMG ถือหุ้น 99.9333% ของหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด (สปริง) และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ ชื่อช่องรายการ SPRING 26 หรือเดิมชื่อช่องรายการ NOW26) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.57 ถึงวันที่ 24 เม.ย.72 แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอคืนใบอนุญาตฯ ภายในวันที่ 10 พ.ค.62
นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NMG เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติคืนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทศน์ ดิจิตอล ช่อง 26 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งขาติ หรือ กสทช. ตามประกาศ ม.44 ที่ให้โอกาส เอกชน คืนใบอนุญาตที่ประมูลมาได้ โดยได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.2562
คณะกรรมการบริษัท ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า การถือใบอนุญาตโมรทัศน์ในระบบดิจิตอล ไว้ถึง 2 ช่อง คือช่อง 22 ผ่านบริษัทเนชั่น บรอดคาสติ้ง จำกัด (มหาชน) และช่อง 26 ผ่านบริษัท สปริง 26 ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการประกอบการของบริษัท ซึ่งเป็นองค์กรข่าว แต่อย่างใด จึงตัดสินใจคืนใบอนุญาต ช่อง 26 ซึ่งเป็นช่อง วาไรตี้ที่กลุ่มบริษัทไม่ได้มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง
เหตุผลความจำเป็นในการคืนใบอนุญาต ทีวีดิจิตอล ช่อง 26 เนื่องจากการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาดของอดีตผู้บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เมื่อปี 2557 ในการเข้าประมูลโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ถึง 2ช่อง โดยเฉพาะการไปประมูลช่อง วาไรตี้ (26) ที่มีมูลค่าสูงถึง 2,200 ล้านบาท ทั้งที่ไม่มีความชำนาญในการดำเนินงานเนื้อหา ด้านวาไรตี้ สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์การทำงานของผู้บริหารในอดีต
การขอคืนใบอนุญาตดังกล่าวถือเป็นการขอยกเลิกใบอนุญาตฯ ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประกาศ ณ วันที่ 2 พ.ค.62 ประกอบกับค สั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม สั่ง ณ วันที่ 11 เม.ย.62
เหตุผลและที่มาของการขอคืนใบอนุญาตฯ เนื่องจากการตัดสินใจเชิงนโยบายของอดีตผู้บริหารของบริษัทฯ เมื่อปี 57ในการเข้าประมูลโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลนำเสนอรายการสารคดี ซีรีย์ภาพยนตร์ต่างประเทศ รายการกีฬา และรายการประเภทวาไรตี้ทั้งที่บริษัทฯ ไม่มีความชำนาญในการจัดการด้านเนื้อหาประเภทดังกล่าว โดยสปริงมีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอดนับตั้งแต่ชนะประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล คือตั้งแต่ปี 57-61 (ณ งวด 9 เดือน สิ้นสุด 30 ก.ย.61) รวมขาดทุนทั้งสิ้นประมาณ 2,405.7 ล้านบาท (โดยงบการเงินของบริษัทสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค.61อยู่ระหว่างการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ)
และสปริง ยังมีภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ณ วันที่ 9 พ.ค.62 เป็นจำนวนสูงถึง 201 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ ประสบกับภาวะขาดทุนมาโดยตลอดจนมีภาระหนี้สินจำนวนมาก โดยบริษัทมีแผนที่จะจำหน่ายไปซึ่งเงินลงทุนในสปริงมาตั้งแต่ต้นปี 61 เพื่อลดภาระด้านเงินทุนและรายจ่ายของบริษัทฯ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจหลักที่มีความแข็งแกร่งเพื่อสร้างฐานการเติบโตต่อไปในอนาคต
สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดกับกลุ่มบริษัทฯ จากการขอคืนใบอนุญาตฯ 1) ค่าชดเชยจากการขอคืนใบอนุญาตฯ ในครั้งนี้จะช่วยลดภาระหนี้สินของบริษัทฯ ทำให้บริษัทสามารถชำระคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินและเงินกู้ ยืมระยะสั้นประมาณ 918 ล้านบาท ณ วันที่ 9 พ.ค.62 โดยบริษัทจะนำค่าชดเชยไปชำระเจ้าหนี้ค่าโครงข่ายค้างจ่าย เจ้าหนี้การค้า หนี้สินระยะสั้นและหนี้สินระยะยาวที่มีหลักประกันกับสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการต่อไป
2) การขอคืนใบอนุญาตฯ ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการบริหารโครงสร้างทุน ทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามาในบริษัทฯ สามารถรองรับความต้องการใช้กระแสเงินสดของบริษัทฯ ได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องแบกรับภาะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในแต่ละเดือนที่ค่อนข้างสูง
3) การขอคืนใบอนุญาตฯ ดังกล่าวยังช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูง เนื่องจากบริษัทฯ สามารถนำค่าชดเชยไปชำระหนี้สินได้
4) กลุ่มบริษัทฯ จะสามารถมุ่งเน้นการดำเนินการในธุรกิจหลักที่กลุ่มบริษัทฯ มีความรู้ และความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง กล่าวคือ สื่อสิ่งพิมพ์การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจสื่อโทรทัศน์ที่มีความเชี่ยวชาญ และการผลิตเนื้อหารายการ (contents) รวมถึงธุรกิจดิจิตอล เพื่อมุ่งเน้นความเข้มแข็งของเนื้อหาและแบรนด์ใน 4 ธุรกิจหลัก โดยการเชื่อมโยงและพัฒนารูปแบบ (Platform ) จาก Offline-Online-On ground เพื่อให้เนื้อหา (Content) สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากและง่ายขึ้น
และ 5) การขอคืนใบอนุญาตฯ จะทำให้บริษัทฯ สามารถเลิกธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอดซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์การทำกำไรได้ และการขอคืนใบอนุญาตฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมี บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ "บริหารงานสถานที่โทรทัศน์"อย่างครบวงจรทั้งการดำเนินการผลิต การจัดหารายการ และการขายเวลาในด้านสายงานข่าวสาร สาระบันเทิง New Media และมีบริษัท เอ็นบีซีเน็กซ์วิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ NBC เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล นำเสนอรายการประเภทหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ (SD) ที่มีความชำนาญ ภายใต้ชื่อ Nation TV (ช่อง 22)