นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 จะดีกว่าในไตรมาส 1/62 เนื่องจากจะรับรู้ผลการดำเนินงานของบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) เข้ามาเต็มไตรมาส หลังจากได้เข้าถือหุ้น 69.11% เมื่อช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รับรู้ผลการดำเนินงานของ GLOW ได้เพียง 18 วันเท่านั้นในไตรมาสแรก และจะผลักดันให้ทั้งปี 62 มีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย
นอกจากนี้ในส่วนของ GPSC ก็จะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในปีนี้เกือบ 390 เมกะวัตต์ (MW) จาก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 ในลาว กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 26 เมกะวัตต์ (MW) ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในลาว กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 300 เมกะวัตต์ และศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 จ.ระยอง (CUP4) กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงอยู่ระหว่างปิดดีลการซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศ 40 เมกะวัตต์ ที่เดินเครื่องผลิตแล้ว โดยคาดว่าจะเสร็จในเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ตามในส่วนของกำไรสุทธินั้น ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากยังอาจจะได้รับผลกระทบจากการบันทึกทางบัญชี เนื่องจากปัจจุบันที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างพิจารณามูลค่ายุติธรรมทางบัญชีของ GLOW ซึ่งหากต่ำกว่ามูลค่าจริงที่บริษัทเข้าซื้อ GLOW ก็จะต้องนำมาทยอยตัดจำหน่ายทางบัญชีในแต่ละปี คาดว่าที่ปรึกษาจะสรุปตัวเลขออกมาในไตรมาส 2 นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับกำไรสุทธิ โดยไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสดของบริษัท
นางวนิดา กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่เพื่อรองรับการเข้าซื้อกิจการ GLOW ทั้งหมดในกรอบวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นได้กู้เงินระยะสั้น 1 ปี ราว 1 แสนล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น 69.11% ใน GLOW และปัจจุบันอยู่ระหว่างทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือทั้งหมด ซึ่งจะแล้วเสร็จในวันที่ 17 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นบริษัทมีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 7.4 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะให้แล้วเสร็จในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากนั้นก็จะพิจารณาปรับหนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาวต่อไป
ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทยังมองโอกาสการเติบโตต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า 3-4 โครงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานน้ำ รวมถึงมองโอกาสการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ private PPA ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยมีขนาดไม่ต่ำกว่า 0.5 เมกะวัตต์/โครงการ ซึ่งเมื่อแผนธุรกิจมีความชัดเจนแล้วก็จะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลงานก่อสร้าง (EPC) งานโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ (MW) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่คาดจะเปิดประมูลภายในเดือนพ.ค. เนื่องจากบริษัทมีนวัตกรรมทุ่นลอยน้ำ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ที่ปัจจุบันได้ทดลองทำโครงการต้นแบบโซลาร์ลอยน้ำ ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดยเริ่มดำเนินการมาแล้วในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้