นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจกากระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงว่า สรุปผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินจำนวน 7 ช่อง คือ
- ไบรท์ทีวี 20
- บมจ.อสมท (MCOT) คืนช่อง 14 MCOT family
- บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) คืนช่อง สปริงส์นิวส์ 19
- บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด คืนช่อง วอยซ์ทีวี 21
- บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) (บริษัท สปริงส์ 26) คืนช่อง สปริงส์ 26
- บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) คืนช่อง ช่อง 28 SD และช่อง 13 Family
"ตอนนี้คิดว่าไม่มีใครมายื่นเพิ่มแล้ว ก่อนหน้านี้มีแจ้งไว้ 8 ช่อง แต่เปลี่ยนใจ ช่องสปริงส์ 19 และ 26 แจ้งไว้เมื่อวาน ส่วนช่อง 3 มายื่นเมื่อเวลา 14.00 น."นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวว่า จากที่เอกชนที่ยื่นขอคืนช่องทีวีดิจิทัล จำนวน 7 ช่อง จะทำให้เหลือช่องทีวีดิจิทัล จำนวน 15 ช่องจากเดิมที่มีอยู่ 22 ช่อง หลังจากนี้ให้ช่องทีวีที่ขอคืนใบอนุญาตส่งเอกสาร รวมทั้งผลประกอบการ ในปี 61 และผลประกอบการในข่วง 1 ม.ค.-11 เม.ย.62 มาให้ กสทช.ภายใน 60 วัน และใช้เวลานำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.ภายใน 30 วัน
หากรายใดยื่นเอกสารได้เร็วก็จะพิจารณาได้เร็ว และจะได้รับเงินชดเชยได้เร็ว ดังนั้นการยุติออกอากาศของแต่ละช่องจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้คาดว่าอย่างช้ากระบวนการทั้งหมดจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค. 62 โดยต้องประชาสัมพันธ์แจ้งผู้บริโภค 30-45 วันก่อนยุติออกอากาศ
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การขอคืนช่องทีวีดิจิทัลมาจากแนวโน้มที่เห็นว่าเมื่อมี 5G จะส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัล จากปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วเมื่อมี 3G/4G ทำให้ทุกคนหันไปชมรายการต่าง ๆ ผ่านช่อง OTT เพิ่มขึ้น และดูทีวีน้อยลง
"บางช่องที่มี 2-3 ช่อง เท่าที่ฟังขาดทุนเป็นหมื่นล้าน เขาทนขาดทุนไม่ได้แล้ว พอมีการคืนช่องมาก็จะทำให้ภาพรวมทีวีดิจิทัลเมื่อมีน้อยรายน่าจะทำให้ดีขึ้น"นายฐากร กล่าว
ทั้งนี้ กสทช.คาดว่าจะใช้เม็ดเงินในการจ่ายค่าชดเชยจากการคืนใบอนุญาต รวมกับค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน ประกอบกับค่าใบอนุญาตงวดที่ 5-6 ที่จะยกเว้นให้ผู้รับอนุญาต รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.7-3.8 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งเงินจะมาจากการนำคลื่น 700MHz ออกประมูล เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับเงินราว 8 หมื่นล้านบาท
"แต่ละรายจะได้ค่าชดเชยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่าขาดทุนกำไรเท่าไร แต่อย่างน้อยจะได้รับเงิน 55%ของเงินที่จ่าค่าใบอนุญาตไปแล้วงวดที่ 1-4 "นายฐากร กล่าว
นอกจากนี้ กสทช.ต้องการเห็นแผนเยียวยาพนักงานที่ต้องออกจากงานจากการคืนช่องทีวีดิจิทัล เนื่องจากเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีกำชับว่าจะต้องให้ความสำคัญและมีความเป็นห่วง
นายฐากร กล่าวว่า ในส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทั้ง 3 ราย คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) ที่ได้มายื่นขอรับสิทธิยืดระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เมื่อวันที่ 7 พ.ค. แต่มีเงื่อนไขเรื่องราคาประมูลคลื่น 700 MHz ที่จะประกาศในวันที่ 14 พ.ค.นี้ หากมีราคาสูงเกินไป อาจไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz
บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส. คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งในวันนี้ยื่นขอใช้สิทธิขยายเวลาจ่ายใบอนุญาตคลื่น 900 MHz และแจ้งว่าราคาเริ่มต้นคลื่น 700 MHz ที่ กสทช.มีข่าวออกไปเห็นว่าราคายังสูง DTAC จะขอรอการรับฟังความเห็นสาธารณะของการประมูลคลื่น 700MHz ในวันที่ 22 พ.ค.นี้
และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิน (ADVANC) ก็ได้แจ้งขอใช้สิทธิเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขการเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz หากราคาสูงเกินไปอาจเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วม
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ราคาประมูลเริ่มต้นของคลื่น 700 MHz ที่ 25,000 ล้านบาทหากเอกชนเห็นว่าสูงเกินไปก็มีสิทธิปฏิเสธที่นะไม่เข้าร่วมประมูลได้ อย่างไรก็ตาม กสทช.จะไม่ปรับราคาตามใจผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพราะยืนยันว่าได้าทำตามหลักวิชาการ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งให้หน่วยงานในต่างประเทศตรวจสอบก่อนที่ประกาศลงในเว็บไซด์วันที่ 14 พ.ค.นี้ และเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในวันที่ 22 พ.ค.นี้