นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) 231 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,302 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1% จากงวดปีก่อน มีกำไรสุทธิ 29 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 916 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากงวดปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,263 ล้านบาท) โดยกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ มีการนำมาตรการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตรวมถึงการสร้างมูลค่าเหมืองในระยะยาวมาใช้อย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานสะท้อนถึงการบริหารการผลิตไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ครบตามสัญญารองรับความต้องการใช้พลังงานตามฤดูกาลได้เป็นอย่างดี
สำหรับกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจถ่านหินมีปริมาณขายเพิ่มขึ้น 33% แต่ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยในตลาดลดลงเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน ในขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นต่อเนื่อง โดยมี EBITDA 28 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 885 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.1 เหรียญสหรัฐต่อพันล้านลูกบาศก์ฟุต หรือเพิ่มขึ้น 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่ดีจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่มีประสิทธิภาพสูง มีอัตราการจ่ายไฟฟ้าสูงถึง 100% ในขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในสาธารณรัฐประชาชนจีน ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง และราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงตามนโยบายรัฐบาลท้องถิ่น
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ภายใต้กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานของบ้านปูฯ ยังคงสดใสต่อเนื่อง แนวโน้มอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ด้วยอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีความต้องการนำก๊าซธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมไปถึงการผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่สำคัญแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส นับเป็นแหล่งผลิตก๊าซแหล่งใหญ่ของสหรัฐฯ เนื่องจากอุดมไปด้วยทรัพยากรการผลิต ตลอดจนมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในระบบท่อขนส่งก๊าซ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังแหล่งตลาดที่สำคัญ โดยเฉพาะตามแนวชายฝั่งตอนใต้ของของสหรัฐฯ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บ้านปูฯ จึงมุ่งต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ด้วยการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ดำเนินการผลิต จัดตั้งสำนักงานดำเนินการ ณ แหล่งผลิต พร้อมวางแนวทางการบริหารเชิงรุก ด้วยทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสนับสนุนการวางแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ ทำงานร่วมกับทีมวิศวกรในพื้นที่ เดินหน้าใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า (Big Data) ที่เจาะลึกเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของตลาด และพัฒนาเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงสุด
นางสมฤดี กล่าวว่ แนวทางการบริหารธุรกิจก๊าซธรรมชาติในเชิงรุกที่ชัดเจน ทำให้มีความได้เปรียบในการบริหารจัดการ กำลังการผลิตและปริมาณสำรองให้สอดคล้องกับสภาวะราคาและความต้องการก๊าซธรรมชาติในตลาดได้ รวมถึงสามารถทำข้อตกลงการซื้อขายกับผู้ซื้อได้โดยตรง ส่งผลให้เราได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุด และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการต้นทุน มีความสามารถในการสร้างกำไรอยู่ในเกณฑ์เทียบเท่ากับผู้ผลิตรายใหญ่ในแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส
"เรายังคงมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจนี้ทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ (การก่อสร้างท่อ ขนส่งก๊าซ) โดยมุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างสินทรัพย์ใหม่และสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์พลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านปริมาณความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นและสะอาดขึ้น รวมถึงสร้างความเติบโตทางธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่เน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น"นางสมฤดี กล่าว