ปมประเด็นร้อนเทกระจาดทุกราคาหุ้น PIMO หรือ บมจ.ไพโอเนียร์ มอเตอร์ ที่เกิดครั้งล่าสุดดิ่งติดฟลอร์เมื่อวันที่ 9 และ 10 เม.ย.62 ปิดตลาดลดลง 29.84% ,29.85% ตามลำดับ ก่อนที่หุ้นปรับตัวลดลงมาสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในวันที่ 17 เม.ย.62 ที่ระดับ 1.42 บาท/หุ้น นับตั้งแต่ PIMO เริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.58
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้หุ้น PIMO เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายด้วย Cash Balance ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.62 และจะสิ้นสุดในวันที่ 24 พ.ค.62
ในปี 61 ราคาหุ้น PIMO ถูกไล่ราคาขึ้นมามาตลอดทางจากที่เคยเคลื่อนไหวจุดต่ำสุดที่ 1.75 บาท/หุ้นในวันที่ 22 ม.ค.61 จนขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปีวันที่ 24 ธ.ค.61 ที่ 4.94 บาท/หุ้น สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ที่เข้าไปลงทุนในหุ้น PIMO มากกว่าเท่าตัว
แต่ด้วยมูลค่าหุ้น PIMO ในช่วงนั้นมี P/E ที่มากกว่า 200 เท่า สวนทางกับผลประกอบการปี 61 ที่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง ทำให้เกิดการทิ้งหุ้นจนราคาดิ่งลงอย่างรุนแรงครั้งแรกติดฟลอร์เมื่อวันที่ 9 ม.ค.62 แม้ทางบริษัทจะมีเอกสารชี้แจงข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ไม่มีพัฒนาการใดๆที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาบนกระดานอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับไม่ได้ช่วยดันให้หุ้น PIMO กลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิม
*ผู้ถือใหญ่ปัดไม่เกี่ยวข้องเชื่อมีขบวนการทุบหุ้น
นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ไพโอเนียร์ มอเตอร์ (PIMO) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า ไม่สามารถให้เหตุผลและกลุ่มที่เข้ามาทุบหุ้นได้ชัดเจน แต่ความเห็นในนามครอบครัวที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ยืนยันได้ว่าช่วงที่เกิดความผันผวนกับราคาหุ้น PIMO ไม่มีใครขายหุ้นออกมาแม้แต่หุ้นเดียว และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันราคาหุ้นปรับขึ้นมาสูงในช่วงที่ผ่านมาด้วย
อนึ่ง ผู้ถือหุ้นรายย่อย ณ วันที่ 12 มี.ค.62 มีจำนวน 774 ราย ถือหุ้นรวมกันกว่า 15% ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเป็นของครอบครัว"อิทธิโรจนกุล"ที่ถือหุ้นรวมกันมากกว่า 70% ของทุนจดทะเบียน
นายวสันต์ กล่าวว่า มุมมองส่วนตัวเชื่อว่าน่าแก๊งค์ปั่นราคาคงทราบจุดอ่อนว่าครอบครัว"อิทธิโรจนกุล"จะไม่ขายหุ้นออกมา แม้ราคาหุ้นจะขึ้นไปสูงเท่าใดก็ตาม ซึ่งทางครอบครัวยอมรับว่ามีความกังวลกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุน จึงอยากให้ทางตลท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เป็นหน่วยงานดูแลเข้ามาตรวจสอบความผิดปกติของการซื้อขายในครั้งนี้ด้วย
"คิดว่าแก๊งค์ที่ปั่นราคาอาจจับจุดอ่อนของครอบครัวเราได้ว่าเรารักหุ้น กอดหุ้นไว้ไม่ได้ขายหุ้นเลย แม้ราคาจะขึ้นไปเท่าใดก็ตาม นอกจากนี้ครอบครัวเรายังกังวลว่าถ้าขายไปแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่ ทำให้ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเกมหุ้น ส่วนข่าวลือก็เคยได้ยินมาเหมือนกันว่ามีมาร์เก็ตติ้งกลุ่มหนึ่งปั่นหุ้น PIMO ผมเองก็ยอมรับว่าที่ผ่านมามีพูดคุยกับผู้ถือหุ้นรายย่อยบ่อยครั้ง ถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยรายใดเข้ามา Company Visit โดยมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าก็จะให้การต้อนรับ ทำให้อาจมีผู้ถือหุ้นบางรายที่เข้ามารู้ข้อมูลที่มากกว่ารายอื่นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่แน่ใจ แต่ส่วนใหญ่ผมก็ค่อนข้างระมัดระวังอยู่แล้ว พยายามไม่ให้ข้อมูลในเชิงลึกมากจนเกินไป"นายวสันต์ กล่าว
*มุ่งสร้างกำไรเรียกความเชื่อมั่นผู้ลงทุนกลับมา
นายวสันต์ มีมุมมองว่า ในฐานะผู้บริหารบริษัท หน้าที่หลักคือต้องสร้างการเติบโตผลประกอบการให้มีความมั่นคงในระยะยาว ดังนั้นเชื่อมั่นว่าถ้าหากผลประกอบการมีทิศทางที่ดี จะผลักดันให้หุ้น PIMO ปรับตัวขึ้นได้รอบใหม่ ในปีที่ผ่านมายอมรับว่ากำไรลดลง เกิดจากต้นทุนราคาทองแดงที่เป็นวัตถุดิบหลักปรับขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. และ มี.ค. แต่ราคาสินค้าบริษัทจะกำหนดในเดือน ม.ค. ทำให้บริษัทปรับราคาขายไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายบริษัทยังทำกำไรได้ในปี 61 และเชื่อว่าผลประกอบการได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว กำลังเริ่มดีขึ้นในปีนี้ ถ้าหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงวัตถุดิบขึ้นราคารวดเร็ว คาดว่าผลประกอบการจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ข้อมูลผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง ปี 59 รายได้ 573.65 ล้านบาท กำไรสุทธิ 40.36 ล้านบาท ,ปี 60 รายได้ 587.25 ล้านบาท กำไรสุทธิ 23.47 ล้านบาท และปี 61 รายได้ 569.27 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16.50 ล้านบาท
*ไม่หวั่นรายย่อยไม่ใช้สิทธิแปลง PIMO-W1 ผถห.ใหญ่มั่นใจเงินสดเพียงพอ
และจากเหตุการณ์หุ้น PIMO ปรับตัวลดลงแรงรอบนี้ ส่วนหนึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับแผนระดมทุนของบริษัทผ่านเครื่องมือในตลาดทุนอย่างใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(วอแรนต์) ของบมจ.ไพโอเนียร์ มอเตอร์ ชุดที่ 1 หรือ PIMO-W1 ซึ่งได้กำหนดราคาใช้สิทธิแปลงเป็นหุ้นสามัญ 1.20 บาท/หุ้น ในอัตรา 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ ดังนั้น หากนักลงทุนรายย่อยที่เคยเข้ามาเก็งกำไร หรือซื้อวอแรนต์ทิ้งไว้ก่อนหน้านี้ จนทำให้มีต้นทุนสูงกว่าราคาใช้สิทธิไปมาก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่นำวอแรนต์มาแปลงเป็นหุ้นสามัญ
นายวสันต์ ยืนยันว่า แม้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะไม่ใช้สิทธิแปลงสภาพวอแรนต์ เพราะราคาหุ้นสามัญที่ตกลงมาก แต่ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินการธุรกิจตามปกติ โดยวัตถุประสงค์ในการออกวอแรนต์ครั้งนี้ เพื่อระดมทุนมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ
ทั้งนี้ ทางผู้ถือหุ้นใหญ่ก็พร้อมที่จะใช้สิทธิทั้งหมด โดยเงินที่ได้จากระดมทุนวอแรนต์รอบนี้รวมกว่า 120 ล้านบาท ตามปริมาณวอร์แรนต์ทั้งหมด 104 ล้านหน่วย ปัจจุบันมีการแปลงเป็นหุ้นสามัญไปแล้วกว่า 2 ล้านหุ้น ทำให้ที่เหลืออีกประมาณ 102 ล้านหน่วย คงต้องรอความชัดเจนในวันที่ 15 พ.ค.ว่าจะมีผู้เข้ามาแปลงเป็นหุ้นสามัญมากน้อยอย่างไร
"ถ้าเกิดการแปลงวอแรนต์รอบนี้ไม่ได้เงินทุนตามที่คาดหวัง ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการตามปกติ เพราะมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นทุนสำรองซื้อกิจการสร้างการเติบโต ตอนนี้คงต้องขอคิดก่อนว่าแผนเข้าซื้อกิจการนั้น จะประสบความสำเร็จอย่างไรในเฟสแรก ถ้าประสบความสำเร็จก็คงจะเดินหน้าต่อไป ส่วนจะออกวอแรนต์ใหม่เลยหรือไม่นั้นคงต้องให้ราคาหุ้นบริษัทกลับมาดีกว่านี้ก่อน จึงค่อยมาพิจารณาเพราะส่วนตัวมองว่าวอแรนต์รอบแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร"
ทั้งนี้ PIMO-W1 ได้เปิดให้ซื้อขายบนกระดานวันสุดท้าย 19 เม.ย.62 ก่อนขึ้น SP ห้ามซื้อขาย กำหนดวันใช้สิทธิวันสุดท้าย 15 พ.ค.62 เปิดแสดงความจำนงผู้ถือ PIMO-W1 ใช้สิทธิ 30 เ.ม.ย.-14 พ.ค.62 มีราคาใช้สิทธิแปลงเป็นหุ้นสามัญ 1.20 บาท/หุ้น ในอัตรา 1 วอแรนต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ
*ไม่ล้มแผนซื้อกิจการ สานฝัน 3-5 ปีรายได้ทะลุ 1,000 ลบ.
แม้ว่าแผนระดมทุนด้วยวอแรนต์อาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผน แต่บริษัทยังไม่ได้ล้มเลิกแผนซื้อกิจการ ล่าสุดเจรจาประมาณ 2-3 ราย เป็นธุรกิจที่เป็นทั้งสัญชาติไทยและญี่ปุ่นมีความคืบหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยบริษัทที่จะซื้อกิจการเข้ามานั้น ต้องมีความเกี่ยวข้องกับ PIMO เป็นธุรกิจที่สร้าง Synergy กัน มีทำกำไรต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี ก้าวเข้าไปสู่สินค้ารูปแบบใหม่ๆที่มีคู่แข่งน้อยราย เพื่อสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืน
"ถ้ายังเติบโตแบบ organic แต่ละปีบริษัทคงเติบโตปีละ 10-15% หรือสูงสุดอาจจะได้ถึง 25% ถ้ามองข้ามช็อตเมื่อบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรใช้ความเป็นมหาชนเติบโตแบบ inorganic มองหาธุรกิจที่มีศักยภาพมาต่อแขนต่อขาให้บริษัทเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ปัจจุบันบริษัทมียอดขายประมาณ 600 ล้านบาท ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ผมฝันว่าอยากเห็นรายได้บริษัทต้องเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ในอนาคตบริษัทจะเติบโตธุรกิจมอเตอร์ฯที่มีความเป็นไฮเทคโนโลยีมากกว่านี้"
*เชื่อมั่นปีนี้ผลประกอบการเติบโตตามเป้า
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ นายวสันต์ ยอมรับว่า ไม่น่ากังวลเท่าใด เพราะในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ยังมีทิศทางที่ดี เชื่อว่ารายได้และยอดขายจะเติบโตได้ตามเป้า 15% โดยมุ่งเน้นขยายตลาดส่งออกเป็นหลักจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 35% จากปีก่อนที่ 30% โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง เป็นผลบวกจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯขึ้นภาศีนำเข้าจีน ทำให้บริษัทเข้าไปแข่งขันด้านราคากับจีนได้
ด้านความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่ามีผลกระทบกับบริษัทบ้าง เพราะปีนี้เพิ่มสัดส่วนส่งออก แต่บริษัทป้องกันความเสี่ยงด้วยการนำเข้าวัตถุดิบมากขึ้นในช่วงเงินบาทแข็งค่า และทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย ขณะที่สัดส่วนยอดขายในประเทศยังเป็นรายได้หลักทำให้มีความเสี่ยงที่จำกัด
ส่วนแผนลงทุนปีนี้ ยังเน้นเรื่องการลดต้นทุนการผลิตเป็นหลัก ด้วยการลงทุนแผนโซลาร์รูฟท็อปมูลค่า 26 ล้านบาทลดต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ย 800,000-1 ล้านบาท/เดือน ประเมินว่าจุดคุ้มทุนของโครงการลงทุนนี้จะประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นจะได้แผงโซลาร์รูฟท็อปมาใช้ซึ่งมีประกัน 25 ปี ทำให้บริษัทประหยัดค่าไฟฟ้าไปอีก 22 ปี นอกจากนั้นมีลงทุนเพิ่มไลน์การผลิตใหม่ในช่วงที่เป็นคอขวดมูลค่ารวม 15-20 ล้านบาท
https://youtu.be/imy4MpaWoV4