บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบมจ. เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า KCE จะสามารถรักษาสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ฟิทช์คาดว่าสถานะการเงินของ KCE จะยังคงแข็งแรง ถึงแม้ว่าผลกำไรของบริษัทฯ จะลดลงในปี 2561 โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การฟื้นตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป: ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้ของ KCE จะยังคงไม่สูงนัก อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 1-3 ในปี 2562 แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับยอดขายที่ลดลงร้อยละ 1.5 ในปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มยอดขายรถยนต์ ที่ฟิทช์มองว่าจะยังคงอ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 และจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราการเติบโตของรายได้ที่น่าจะอ่อนแอในปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการสั่งซื้อแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2561 โดยยอดขายรถยนต์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎการทดสอบรถยนต์ของสหภาพยุโรป รายได้ของ KCE ที่ลดลงในปี 2561 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งตัวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ในรูปสกุลเงินบาทลดลง รายได้ของ KCE ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตในอัตราร้อยละ 3.7 ในปี 2561 (ปี 2560 เติบโตร้อยละ 6.7)
อัตราส่วนกำไรคงอยู่ในระดับเดิม: ฟิทช์คาดว่า KCE จะรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่ระดับประมาณร้อยละ 20 ในปี 2562 โดยฟิทช์มองว่าราคาทองแดงเฉลี่ยในปี 2562 จะยังคงสูงอยู่เมื่อเทียบกับปี 2561 การฟื้นตัวของอัตรากำไรในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตของโรงงานใหม่ และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรที่มีความซับซ้อนซึ่งมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างสูง KCE เผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาทองแดง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 19 ของต้นทุนการผลิตในปี 2561 EBITDAR Margin ของ KCE ลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปี 2561 จากร้อยละ 24 ในปี 2560 และร้อยละ 29 ในปี 2559 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาทองแดงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560
บริษัทมีการเสนอการเปลี่ยนแปลงราคาของผลิตภัณฑ์ปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเจรจาเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์ในการเสนอราคาครั้งต่อไปหากต้นทุนราคาทองแดงมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งผ่านต้นทุนราคาทองแดงที่เพิ่มขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองระหว่างบริษัทและลูกค้า
สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า KCE จะยังคงมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรที่ลดลง และเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำที่ 0.5 เท่า ณ สิ้นปี 2561 น่าจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินสำหรับรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ฟิทช์คาดว่า FFO-Adjusted Net Leverage จะเพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนที่สูงขึ้น แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่: อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า และมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) มากกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) บริษัทฯ เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 นอกจากนี้ KCE ยังมีอัตราส่วนกำไรโดยรวมที่สูงกว่าผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป เนื่องจากบริษัทมีโครงสร้างต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำจากกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และค่าแรงที่ต่ำกว่าในประเทศไทย
โอกาสการเติบโตในอนาคต: KCE ได้รับประโยชน์จากโอกาสการเติบโตในระยะยาวของผลิตภัณฑ์แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ จากการผลิตรถยนต์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า และการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ ฟิทช์คาดว่ายอดขายของบริษัทจะเติบโตร้อยละ 4-6 ต่อปี ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
การกระจุกตัวของรายได้; ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน: ปัจจัยเสี่ยงหลักของ KCE ประกอบด้วยการที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว การแข่งขันด้านราคาที่สูง และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ KCE ยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงกระบวนการผลิต อาจส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ในรูปสกุลเงินบาทลดลง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
KCE มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ KCE มีความใกล้เคียงกันกับของ บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ PTL เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ PTL ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และมีการแข่งขันที่สูง
ในขณะที่ KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่สูงกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน Total adjusted net debt to EBITDAR อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน
บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) (อันดับเครดิต ‘A (tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า KCE มาก โดยมี EBITDAR Margin ใกล้เคียงกัน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการแข่งขันที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCCC ทำให้ SCCC ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า KCE หนึ่งอันดับ แม้ว่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความเสี่ยงว่า SCCC จะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้หรือไม่ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวได้สะท้อนในแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เติบโตร้อยละ 1-3 ในปี 2562 และเพื่มขึ้นเป็นร้อยละ 4-5 ในปี 2563-2564
- ราคาทองแดงเฉลี่ยในปี 2562 ลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2561
- EBITDAR Margin อยู่ที่ร้อยละ 20-22 ในปี 2562-2564
- มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายกำลังการผลิตในปี 2562-2564
- อัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 65
- ไม่มีการซื้อกิจการ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- การขยายตัวของบริษัทและการเพิ่มการกระจายตัวของลูกค้า และ EBITDAR Margin เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 25 โดยยังคงรักษาอัตราส่วน FFO-Adjusted Net Leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ
- กระแสเงินสด ที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- EBITDAR Margin ต่ำกว่าร้อยละ 20 อย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทมีสถานะด้านการแข่งขันและความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนการผลิตไปยังลูกค้าอ่อนแอลง
- สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ – ณ สิ้นปี 2561 KCE มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 2.4 พันล้านบาท โดยหนี้ระยะสั้นดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วยหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก ส่วนหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระในปี 2562 มีจำนวน 168 ล้านบาท บริษัทมีเงินสดจำนวน 1.4 พันล้านบาท และมีสภาพคล่องเสริมจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกได้ (uncommitted facilities) จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท และ 80 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2561