นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย(SCIB)กล่าวว่า การหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับฐานเงินทุน และประสิทธิภาพในการบริหารงาน คงต้องชะลอออกไปก่อน เพื่อรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่ โดยในช่วงนี้จะหันไปเน้นการปรับโครงสร้างภายในเพื่อเตรียมความพร้อมก่อน
"เรื่องของพันธมิตรตอนนี้ ขอพักไว้ก่อน เราไม่รีบร้อนขอรอดูการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ เรื่องของนโยบายรัฐบาลก่อน ใครจะไปจะมา จะช้าหรือเร็วก็ไม่เป็นไร เพราะขณะนี้เงินกองทุนธนาคารก็พอเพียง พนักงานเองก็มีขวัญและกำลังใจที่ดี" นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับปีนี้ SCIB คาดว่า Net Interest Margins(NIM)ดีขึ้นเนื่องจากคาดว่าต้นทุนทางการเงิน (cost of funds) ของธนาคารลดลงต่ำกว่า 2.5% เพราะว่าดอกเบี้ยเป็นขาลง ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เองมี cost of funds ไม่ถึง 2% เพราะฉะนั้นธนาคารต้องทยอยปรับตรงนี้ โดยธนาคารได้ปรับสัดส่วนของโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่อใหม่ ทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลง โดยจะเน้นเงินฝากออมทรัพย์ และกระแสรายวันมากขึ้นทำให้ cost ลดลงด้วย
ล่าสุด ธนาคารจัด “โครงการเงินฝากออมทรัพย์บุฟเฟต์นครหลวงไทย ปี 2551" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในปีที่แล้ว ที่สามารถระดมเงินฝากจากโครงการนี้ได้ 13,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5 แสนบัญชี โดยในปีนี้ตั้งเป้าระดมเงินฝาก 6 พันล้านบาท แต่เพียงเดือนม.ค.ที่ผ่านมาธนาคารสามารถระดมเงินฝากได้แล้ว 3.9 พันล้านบาท เชื่อว่าปีนี้น่าได้เกินเป้าหมาย
"โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งในการช่วยปรับสัดส่วนเงินฝากที่ตั้งเป้า 3 ปี จะมีสัดส่วนเงินฝากประจำ 60% และอีก 40% เป็น ออมทรัพย์และกระแสรายวัน โดยปีนี้คาดว่าเงินฝากออมทรัพย์จะเพิ่มเป็น 33-34% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ 0.08-0.09%" นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ แสดงความเห็นว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คาดว่าคงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่สำหรับดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์เองคงขึ้นกับหลายปัจจัย อาทิ สภาพคล่อง คู่แข่ง ความจำเป็นในการใช้เงิน
ส่วนน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.คลังนั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ถือเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ส่วนเรื่อง ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องของเศรษฐกิจน้น สามารถหาทีมงานที่เก่งได้ และคิดว่าทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ ด้วยบุคลิกภาพและความสามารถเชื่อว่าทำได้
นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงเรื่องของมาตราการกันสำรอง 30% ว่า มีหลายคนแล้วที่เห็นว่ามาตรการดังกล่าวยังเหมาะสมอยู่ ส่วนผู้ประกอบการไม่ว่าจะเลิกหรือไม่ ผู้ประกอบการเองก็ปรับตัวได้อยู่แล้ว ในเวลานี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึง ขณะที่เรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าตอนนี้มาจากปัจจัยภายนอกจากการที่ดอลลาร์อ่อนเป็นสำคัญ
"ตอนนี้เราคงต้องรอดูมาตรการต่างๆ ของสหรัฐที่ออกมา ดูภาพในองค์รวม ส่วนผู้ส่งออกและลูกค้าธนาคารมีการดูแลอย่างใกล้ชิด และขณะนี้เป็นปกติไม่มีปัญหาอะไร และธนาคารได้แนะนำให้คิดต้นทุนเรื่องป้องกันความเสี่ยงเข้าไปในความเสี่ยงการดำเนินงานด้วย" นายชัยวัฒน์ ระบุ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--