นายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงาน Enterprise Digital ธนาคารธนชาต (TBANK) ในกลุ่มบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเข้ามาเสริมการให้บริการด้านการขอสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันในโมบายแอพพลิเคชั่น "Thanachart Connect" ซึ่งเป็นการร่วมพัฒนากับพันธมิตรฟินเทครายหนึ่ง โดยบริการดังกล่าวจะใช้ชื่อว่า ULDX (Unsecure Loan Digital Experience) ที่จะครอบคุมเกี่ยวกับการให้บริการสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันทั้งหมด เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต เป็นต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอให้ระบบ E-KYC และ E-Signature เปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการก่อน ธนาคารถึงจะเริ่มนำบริการดังกล่าวเข้ามาใช้ในโมบายแอพพลิเคชั่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการในเฟสแรกช่วงไตรมาส 4/62 และจะต่อยอดไปที่ผลิตภัณฑ์อี่น ๆ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น
ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น "Thanachart Connect" มีบริการด้านสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของธนาคาร ภายใต้ชื่อ ALDX (Automotive Loan Digital Experience) ซึ่งเป็นการให้บริการแบบ O2O ที่ธนาคารพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์การพัฒนาด้านดิจิทัลของธนาคารนั้นมี 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนา Digital Platform ให้ตอบโจทย์ Digital Journey ของลูกค้าและองค์กร ประกอบกับมี Platform ต่าง ๆ เข้ามาเสริม 2.การพยายามทำให้ลูกค้าของธนาคารที่มีกว่า 4 ล้านราย เข้ามาใช้บริการ แอพพลิเคชั่น "Thanachart Connect" ให้มากที่สุด และเพิ่มความสะดวกสบายในบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้า 3.การมองหาช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า เช่น Digital sell และ Digital Marketing และนำไปสู่การร่วมกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา
แอพพลิเคชั่น "Thanachart Connect" มีลูกค้าของธนาคารใช้บริการทั้งหมด 1.2 ล้านราย จากจำนวนลูกค้าของธนาคารทั้งหมดกว่า 4 ล้านราย ซึ่งมีจำนวนลูกค้าที่ Active ซึ่งมีการทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นประจำราว 720,000 ราย และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารเชื่อว่าหลังจากที่ธนาคารเพิ่ม Platform ใหม่ ๆ เข้าในแอพพลิเคชั่น "Thanachart Connect" มากขึ้นในอนาคต จะทำให้ลูกค้าของธนาคารเริ่มหันมาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นจำนวนมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
นอกจากนี้ในการพัฒนาด้าน Platform ทางการเงินของธนาคารนั้นได้มีการจัดโครงการ Thanachart Digital Bizz Challenge 2019 โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในงานด้านธุรกิจและการตลาดได้ต่อยอดความรู้ในเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการมาถึงของ Digital Banking ซึ่งโครงการ Digital Bizz Challenge นี้จะเป็นเวทีให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่เรียนมานำเสนอแผนงานเรื่องนวัตกรรมดิจิทัลทางการเงิน (Digital Banking Innovation) ครอบคลุมตั้งแต่การวิเคราะห์สถานการณ์ความต้องการของลูกค้าและโอกาสทางธุรกิจในปัจจุบัน การกำหนดกลยุทธ์ทางด้านผลิตภัณฑ์ การบริการทางการเงินหรือการตลาด การกำหนดแผนงานและกรอบเวลาทำงาน รวมถึงประมาณการผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าว เพื่อให้ได้โครงการที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง โดยทีมที่ชนะจะได้รับโอกาสในการดูงานกับธนาคารธนชาตอีกด้วย
"โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้าน Digital Banking และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยจุดประกายให้สังคมได้รับความรู้และเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มจากระดับเยาวชน นิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็น New Generation ที่จะเป็นผู้ใช้ Digital Banking จริงในอนาคต และได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้น ธนาคารธนชาตยังเดินหน้าให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี โดยมีการพัฒนา Digital Platforms ให้ลูกค้าใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพด้าน Digital Sales & Marketing และโครงการ Digital Partnership with Fintech เพื่อให้บริการทางการเงินใหม่ๆด้วย"นายธีรชาติ กล่าว