นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิว นิเคชั่น (ILINK) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเข้าประกวดราคาโครงการวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล (Submarine Cable) ของเกาะสมุยวงจร 4 มีมูลค่า 1,767 ล้านบาท และเกาะปันหยีมูลค่า 188 ล้านบาท หลังจากล่าช้ามากว่า 3 ปี โดยคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 3/62
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 62 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 5,485 ล้านบาท โดยคาดหมายว่าจะมีรายได้เติบโตจากธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณซึ่งมีการแต่งตั้ง Distribution ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่ เมียนมา จำนวน 3 ราย สปป.ลาว จำนวน 3 ราย กัมพูชา จำนวน 2 ราย อีกทั้งยังได้เปิด Show Room Online ใน Lazada, Shopee และ ID Central เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเพิ่มเติม และเมื่อวันที่ 9 พ.ค.62 ยังเปิดตัว LINK SWITCH ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในหมวด Networking ที่มีมูลค่าตลาดในประเทศไทยกว่า 8,000 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจวิศวกรรมยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีรายได้ในการให้เช่าวงจรสื่อสารความเร็วสูง ซึ่งมีทั้งลูกค้าในกลุ่มธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทขนาดใหญ่ทีมีสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งยังชนะการประกวดราคาโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบของกสทช. มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ทำให้สามารถรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีรายได้คงที่จากการให้เช่าพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ และลูกค้าเดิมที่ต่อสัญญามาโดยตลอดและธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษที่นอกจากจะพยายามเร่งรัดและสร้างกำไรจากการดำเนินงานโครงการ Satellite Terminal ของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ก่อสร้างมานานกว่า 3 ปี ให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา
ทั้งนี้ ประมาณการสัดส่วนรายได้ในปีนี้ แบ่งเป็น ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (DISTRIBUTION) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 45%, ธุรกิจโทรคมนาคม (TELECOM) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 37% และธุรกิจวิศวกรรมและโครงการพิเศษ (ENGINEERING) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 18%
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1/62 (สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.62) บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,157.50 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงาน อยู่ที่ 87.46 ล้านบาท
สำหรับสัดส่วนรายได้ 85.30% ของรายได้รวม เป็นรายได้ที่เติบโตขึ้นของกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณและธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายที่กลุ่มบริษัทตั้งไว้ และเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี ซึ่งกลุ่มบริษัทได้นำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 เรื่องรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้ามาใช้ปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้จากธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ และการบันทึกบัญชีของอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งบริษัทได้ทำ Forward ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้ในตัวเลขของงบดุลที่ต้องแสดงยอดกำไรสุทธิที่มีผลดำเนินงานที่ดี แต่ต้องไปหักขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวน 48.18 ล้านบาท (สุทธิของภาษีเท่ากับ 38.54 ล้านบาท) จึงอาจสร้างความสับสน ให้เกิดความไม่เข้าใจในผลการดำเนินงานอย่างแท้จริงได้
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 นี้ ทางบริษัทฯมั่นใจที่จะสร้างกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นได้ เพราะสามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น