แม้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนก่อนเข้าสู่โค้งสุดท้ายไตรมาส 2 แต่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งรอจ่อคิวระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) อย่างต่อเนื่อง
บมจ.มิตรสิบ ลิสซิ่ง (MITSIB) เป็นอีกหนึ่งที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในเดือนมิ.ย.62 ตามแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 167 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.04% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้ (par) 0.50 บาทต่อหุ้น โดยมี บล.คันทรี่ กรุ๊ป เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
MITSIB ประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่และรถเพื่อการพาณิชย์ทั้งป้ายแดงและมือสอง บริษัทยังให้บริการทำสินเชื่อใหม่ หรือรีไฟแนนซ์ให้กับลูกค้าที่ซื้อรถแท็กซี่ของบริษัท รวมทั้งให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อกับลูกค้าภายนอกบริษัท เช่น ลูกค้าของเต้นท์รถทั่วไป เป็นต้น ส่วนบริการสินเชื่อเช่าซื้อรถเพื่อการพาณิชย์ ประกอบด้วย รถสองแถวโดยสารประจำทาง และรถบรรทุกสาธารณะป้ายทะเบียนเหลือง เป็นต้น
เมื่อเดือน เม.ย.61 บริษัทยังเปิดการให้บริการสินเชื่อแบบรับซื้อบัญชีลูกหนี้การค้า/รับโอนสิทธิเรียกร้อง (Factoring) ซึ่งเป็นการให้บริการสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่อง และเปิดบริการเสริมแบบ One Stop Service อำนวยความสะดวกสบายของลูกค้า ด้วยการเข้าไปถือหุ้น 44.50% ในบริษัท แอพแท็กซี่ จำกัด ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เป็นบริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อเข้ามาส่งเสริมธุรกิจหลัก และให้บริการสินเชื่อกรมธรรม์ประกันภัย ,การให้บริการต่อ พ.ร.บ. ทะเบียนรถ และตรวจสภาพรถ เป็นต้น
นายนิติพัทญ์ ยงค์สงวนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MITSIB เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ที่มาชื่อ "มิตรสิบ ลิสซิ่ง" เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนสนิท 10 คนก่อตั้งบริษัทในปี 46 เริ่มแรกดำเนินธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แต่จากภาวะการแข่งขันรุนแรง ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยไม่ต้องมีเงินดาวน์ ทำให้เกิดปัญหาหนี้ NPL มากพอสมควร บริษัทจึงเปลี่ยนมาปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่สาธารณะแทนในปี 52 เพราะมองเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ จากเริ่มต้นปีแรก 50 คันจนกลายมาเป็นเกือบ 3,000 คันในปัจจุบัน
"เมื่อ 20 ปีก่อนผู้ที่จะขับรถแท็กซี่สาธารณะได้ต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองที่มีมูลค่าถึง 2-3 แสนบาทต่อทะเบียน แต่พอรัฐบาลเปิดการแข่งขันอิสระ ทำให้สามารถจดทะเบียนแท็กซี่สาธารณะได้เลย โดยไม่ต้องถูกจำกัดป้ายทะเบียนสีเหลือง ในช่วงที่ทำธุรกิจแรกๆ มีคู่แข่งขันน้อยราย บริษัทมีความได้เปรียบเพราะทำการตลาด และมีรูปโฉมแท็กซี่สาธารณะที่สวยงาม ความแตกต่างเรื่องอุปกรณ์เสริมและภายในตัวรถมีฟังก์ชั่นเพิ่มความหรูหราเข้าไปด้วย"
ปัจจุบัน MITSIB มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่สาธารณะสัดส่วนกว่า 90% และที่เหลือเป็นรถเพื่อการพาณิชย์ ประเภทรถสองแถว และรถบรรทุกสาธารณะที่เป็นป้ายทะเบียนเหลือง ในระยะถัดไปบริษัทมีนโยบายขยายพอร์ตสินเชื่อรถเพื่อการพาณิชย์ทั้ง 2 ประเภทนี้อีกมากนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่สามารถนำไปสร้างรายได้ให้กับผู้มาขอสินเชื่อ ทำให้ปัจจุบันมีความต้องการสูง
*เข้าตลาด mai ดันพอร์ตสินเชื่อโตเท่าตัวภายใน 2 ปี
สำหรับแผนเข้าระดมทุนในตลาด mai ครั้งนี้ บริษัทจะนำไปชำระหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน 60% และอีก 40% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนเงินกู้จากสถาบันการเงินที่เป็นดอกเบี้ยกว่า 4% มองว่ายังเป็นอัตราสูง ภายหลังเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว ช่วยลดต้นทุนการเงินที่เป็นดอกเบี้ยลงมาต่ำกว่า 3.50% ขณะที่ประโยชน์ของเงินทุนหมุนเวียนนั้น จะทำให้บริษัทสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 62 และ 63 แบบไม่มีต้นทุน แปลว่าจะส่งผลบวกกับการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างมีนัยสำคัญ
ประกอบกับ บริษัทมีแผนขยายฐานลูกค้าตามหัวเมืองต่างๆในต่างจังหวัดเพิ่มเติม โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ 2-3 บริษัทเข้ามาให้บริการ พร้อมกันนี้อยู่ระหว่างพิจารณาธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่นนอกเหนือจากสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่สาธารณะ เป็นปัจจัยผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตขึ้นเป็น"เท่าตัว"ภายในปี 63 จาก ณ สิ้นปี 61 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 1.5 พันล้านบาท
"เท่าที่ผมศึกษามาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ประกอบธุรกิจลิสซิ่ง ยังไม่มีบริษัทใดมุ่งเน้นตลาดรถสาธารณะเลย ดังนั้นเชื่อว่าบริษัทเป็นหนึ่งเดียวที่มีความแตกต่าง ธุรกิจจำหน่ายและให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะเมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนรถสาธารณะที่เป็นรถแท็กซี่ที่นั่งไม่เกิน 7 คนในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่มีประมาณ 80,000 คัน ซึ่งตามกฎหมายได้ระบุว่าชัดเจนว่าห้ามใช้งานเกิน 9 ปี ทำให้ในแต่ละปีต้องมีรถแท็กซี่ใหม่หมุนเวียนเข้ามาเฉลี่ยปีละ 10,000 คัน มั่นใจว่าศักยภาพบริษัทภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ไปแล้ว จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน นอกจากนั้น บริษัทยังมองหาโอกาสเข้าไปปล่อยสินเชื่อตามหัวเมืองหลัก หรือแหล่งชุมชน เนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยังมองว่าเป็นตลาดที่เล็ก ยังไม่จูงใจเข้าไปขยายฐานลูกค้าในส่วนนี้ แต่สำหรับบริษัทถือเป็นโอกาสสร้างการเติบโตที่สำคัญในอนาคต"
*ชูความคล่องตัว เบียดคู่แข่ง"ลิสซิ่ง"บริษัทลูกธนาคาร
ซีอีโอ MITSIB มีมุมมองประเด็นการแข่งขันกับบริษัทลิสซิ่งคู่แข่งที่มีบริษัทแม่เป็นธนาคารว่า แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะมีต้นทุนการเงินที่ต่ำจากฐานเงินฝาก แต่มองว่าธนาคารเองก็ยังต้องมีส่วนต่างเรื่องผลประโยชน์ด้านผลตอบแทน ฉะนั้นคู่แข่งที่มีบริษัทแม่เป็นธนาคารจึงได้เปรียบต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าบริษัทไม่มากนัก ขณะที่กระบวนการขออนุมัติสินเชื่อมีความเข้มงวดมากกว่า แตกต่างกับนโยบายหลักของบริษัทที่ไม่ได้ตรวจสอบเครดิตบูโร แต่ถ้าลูกค้ารายใดยินยอมให้ตรวจสอบเครดิตบูโร บริษัทก็ยินดีเอื้อประโยชน์ให้กับลูกค้าด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าหันมาใช้บริการสินเชื่อกับทางบริษัทมาต่อเนื่อง
*เน้นคุณภาพสินเชื่อ คุม NPL ต่ำกว่า 10%
นายนิติพัทญ์ บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการธุรกิจลิสซิ่งเติบโตได้ต่อเนื่อง นั้นคือต้องดูแลคุณภาพสินเชื่อให้มีความเสี่ยงต่ำ ที่ผ่านมาบริษัทมีกระบวนการดูแลไม่ไห้ NPL เร่งตัว แม้ว่าในอดีตบริษัทเคย NPL ขึ้นไปถึง 15-20% เนื่องจากลูกค้าที่ใช้บริการมีวินัยการเงินไม่สูง แต่บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพมาติดตามเร่งรัดหนี้ ซึ่งเป็นทีมงานของบริษัทเอง สิ่งสะท้อนมาคือ NPL ในปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 10% ซึ่งบริษัทมีความตั้งใจว่าจากนี้ไป NPL จะต้องลงมาต่ำเหลือแค่เลขหลักเดียว ประกอบกับข้อดีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่สาธารณะ โอกาสเกิดเป็นหนี้สูญน้อยมาก เพราะบริษัทสามารถติดตามยึดทรัพย์ได้ทุกคัน เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกบังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันติด GPS เพื่อเอื้อให้ผู้ใช้บริการได้รับความปลอดภัย ดังนั้นการติดตามลูกค้าหรือยึดทรัพย์ก็สามารถติดตามได้ง่ายขึ้น
https://youtu.be/Osw0go8zQrU