บอร์ดกทพ.อนุมัติต่อสัญญาสัปมทานทางด่วน 3 สัญญากับ BEM ออกไป 30 ปี แลกยุติคดีข้อพิพาท 1.3 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 15, 2019 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทพ.วันนี้(15 พ.ค.) ว่าที่ประชุมได้มีมติรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณา แนวทางดำเนินการคดีข้อพิพาทระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยอนุมัติให้มีการต่อขยายสัญญาสัมปทานของ BEM ออกไป จำนวน 3 สัญญา ออกไปสัญญาละ 30 ปี ได้แก่ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A ,B ,C ), ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และ โครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C +) และจะดำเนินการในขบวนการยกเลิกการฟ้องร้องคดีต่างๆ ต่อไป

ก่อนหน้านี้ กทพ.ตกลงที่จะปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ได้แก่ การขยายระยะเวลาของสัญญาสัมปทานทั้ง 3 สัญญา ออกไปสิ้นสุดในปี 2600 หรือขยายเวลาออกไป 37 ปีจากเดิมที่สัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จะสิ้นสุดในปี 2563 ปี 2570 และ ปี 2569 ตามลำดับ

นายสุรงค์ กล่าวว่า ข้อพิพาททั้งหมด ระหว่างกทพ.และ BEM มีมูลค่าทั้งหมดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งมี คดีที่ถึงที่สุด แล้วคือกรณีทางแข่งขัน มูลหนี้ค่าชดเชย 4.3 พันล้านบาท ซึ่งนับจากศาลมีคำตัดสิน เดือนก.ย. 2561 ยังจะมีดอกเบี้ยเพิ่มอีก ยังมีข้อพิพาทที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก โดยรวมได้มีการเจรจาปรับลดมูลหนี้จาก ข้อพิพาท มาเจรจาที่ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรณีต่อสัญญาอีก 30 ปี จะทำให้ล้างหนี้ทั้งหมด ออกไป โดยกรณีที่พนักงานมีข้อห่วงใยว่าจะมีการบันทึกหนี้ในบัญชีนั้น กทพ.จะเร่งหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้ชัดเจนว่าจะไม่มีการบันทึกหนี้ซึ่งกันและกัน ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางกฎหมาย ได้ยืนยันแล้ว

"จำเป็นต้องเร่งหาข้อยุติเพราะดอกเบี้ยเพิ่มทุกวัน โดยยืนยันว่า ผลในการเจรจานั้นกทพ.ยังได้ประโยชน์เท่าเดิม โดยได้ส่วนแบ่งรายได้ที่ 60-40 ,รัฐบาลไม่มีภาระหนี้สินกับภาคเอกชน จากข้อพพาท ,ทางเอกชนสามารถอยู่ได้ในระดับพอสมควร ,ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด สามารถใช้ทางด่วนได้สะดวกยิ่งขึ้น หวังว่า ครม.จะพิจารณาเพื่อให้กทพ.มีความคล่องตัว มีความสามารถในการดำเนินการ และไม่พึ่งพางบประมาณใการลงทุนโครงการใหม่"ประธานบอร์ด กทพ. กล่าว

นายสุรงค์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเร่งสรุป ผลการเจรจา เสนอต่อคณะกรรมการกำกับสัญญาตาม มาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ 2556 พิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป ซึ่งจะเห็นตามที่บอร์ด กทพ.เสนอหรือไม่อยู่ที่ครม. ซึ่งการเจรจาทั้งหมด บอร์ด ได้ทำหน้าที่ตามคำสั่งครม. ที่ให้ดำเนินการเจรจาระงับข้อพิพาท ให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของประเทศ

ทั้งนี้ในเงื่อนไขการเจรจา และการขยายสัญญาออกไป 30 ปี ได้แก่ 1.จะไม่มีข้อพิพาทเรื่องกรณีทางแข่งขันเกิดขึ้นอีก 2. กำหนดการปรับค่าผ่านทางชัดเจน โดยปรับทุก 10 ปี (ครั้งละ 10 บาท) 3. มีการปรับลดค่าผ่านทาง ในบางด่านเช่น ด่านอาจณรงค์1 (ทางลงด่วนขั้นที่1). เพื่อระบายปริมาณจราจร

4.เอกชน จะต้องก่อสร้าง Double Deck ลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และได้รับอนุมัติภายใน 2 ปี หากEIA ไม่ผ่าน ถือเป็นความเสี่ยงของเอกชน เพราะหากไม่สามารถก่อสร้างได้ จะปรับลดการขยายอายุสัญญาจาก 30 ปี เหลือ 15 ปี ในส่วนของ ทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนเอ ,บี, ซี ) 5. ก่อสร้างทางขึ้น-ลงเชื่อมเข้าศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางบางซื่อ

"การเจรจาครั้งนี้ ถือว่าได้ข้อยุติ ในส่วนของบอร์ด ซึ่งบอร์ดเห็นว่าดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในสถานการณ์ปัจจุบันและจะระงับปัญหาข้อพิพาททั้งหมด โดยจะไม่มีภาระหนี้สินหรือข้อพิพาทต่อกัน ส่วนยอดหนี้ที่มีการบันทึกไว้แล้วในกรณีที่ศาลตัดสินชี้ขาดไปแล้ว จะไม่มีอีก ดังนั้น ผลการเจรจาครั้งนี้ จะทำให้กทพ.หมดภาระ สามารถรับรู้รายได้โดยปกติ ทำให้สามารถนำรายได้ที่เกิดขึ้นมาพัฒนาโครงการที่มีความจำเป็นตามภารกิจต่อไป"

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกทพ.จะปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน ระบบหักค่าผ่านทางจากบัญชี ,ระบบการออกใบเสร็จ , ทำโปรโมชั่นเพื่อให้มีผู้ใช้ทางผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ระบบEasy Pass ยังมีข้อจำกัด เช่น บัตรติดกับตัวรถ ไม่สามารถออกใบเสร็จได้ จะปรับปรุงด้านการตลาด เพื่อเพิ่มความสะดวก ผู้ใช้ทางหันมาใช้ระบบ Easy pass เพราะจะทำให้รถผ่านด่านได้เร็วขึ้นจาก 10 วินาที/คันเหลือ 3 วินาที/คัน

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำการแทนผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า กทพ.จะเร่งส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้คณะกรรมการกำกับสัญญา พิจารณาและเสนอครม.ต่อไป โดยระหว่างนี้อัยการสูงสุดจะตรวจร่างสัญญา ซึ่งหากครม.เห็นชอบตามผลการเจรจาการขยายเวลาสัญญาทางด่วนแต่ละสัญญาออกไป 30 ปี จะมีการเซ็นสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม กับ BEM ใน 3 โครงการ ดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของสัญญาเดิมที่จะยังไม่สิ้นสุด จะยังคงเป็นไปตามตามเงื่อนไขเดิมจนครบสัญญาเดิม

"ข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับ BEM ที่เกิดขึ้นมีมูลค่าทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท โดยมีข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการ เกือบ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเจรจาล้างหนี้ครั้งนี้ จะรวมข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วรวมถึงข้อพิพาทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะไม่มีแล้ว"

การเจรจาของคณะอนุกรรมการฯที่ได้นำเสนอบอร์ดนั้น อยู่ภายในกรอบที่ครม.ได้อนุมัติไว้ 4 ข้อ คือ 1. กทพ.จะไม่มีการจ่ายเงินสด 2. กทพ.ต้องได้สิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิมที่เคยได้ คือส่วนแบ่งที่ 60-40 ของรายได้ค่าผ่านทาง 3. สาธารณะได้ประโยชน์ ซึ่งเอกชนจะต้องปรับปรุงสภาพทางด่วนศรีรัช ทำทางขึ้นลงและทำทาง2ชั้น เป็นต้น 4. จะไม่มีการพพาท กรณีทางแข่งขันและการปรับค่าผ่านทางอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ