ทริส จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ BTS วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นลบ. ที่ระดับ "A" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 15, 2019 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่ระดับ "A" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้เดิม

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทจากการมีรายได้ค่าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้จากการให้บริการเดินรถไฟฟ้า ตลอดจนการได้รับเงินปันผลที่สม่ำเสมอจากการถือหุ้น 33.33% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) และการมีสถานะที่มั่นคงในธุรกิจสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากการลงทุนในโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่หลายโครงการ

นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนในการปรับโครงสร้างสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจำนวน 2 สัญญาซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานใหม่สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทริสเรทติ้งจะติดตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานใหม่อย่างใกล้ชิดเนื่องจากสัญญาสัมปทานใหม่อาจจะกระทบกับสถานะทางการเงินของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

กระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในธุรกิจระบบขนส่งมวลชน

รายได้และกระแสเงินสดของธุรกิจระบบขนส่งมวลชนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากปัจจัย 2 ประการ ประการแรก รายได้และกระแสเงินสดจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้ง 2 เส้นทาง บริษัทให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้เริ่มให้บริการในช่วงปลายปี 2561 ในขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในปี 2563 ซึ่งการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้านั้นสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอและมีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูง ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,800 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 เป็น 6,500 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565

ประการที่ 2 บริษัทจะได้รับเงินปันผลที่สูงขึ้นจากการถือหุ้น 33.33% ใน BTSGIF ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากเงินปันผลจะเติบโตที่ระดับ 5% ต่อปีในระหว่างปีงบประมาณ 2563-2565 เนื่องจากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าจะส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นในโครงข่ายหลักซึ่งผ่านบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก โดยในช่วงปีงบประมาณ 2551 ถึงปีงบประมาณ 2561 จำนวนผู้โดยสารรายวันโดยเฉลี่ยของรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มขึ้น 6.2% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 จำนวนผู้โดยสารรายวันโดยเฉลี่ยลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากการปรับค่าโดยสารและการหยุดชะงักการให้บริการในเดือนมิถุนายน 2561

สัญญาสัมปทานใหม่อยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรอง บริษัทได้มีการทำสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับกรุงเทพมหานครจำนวน 2 สัญญาเพื่อให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจที่จะปรับโครงสร้างสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าเป็นสัญญาสัมปทานใหม่ โดยผู้ได้รับสัมปทานจะเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานใหม่ โดยคาดว่าข้อตกลงสัญญาสัมปทานใหม่จะได้ข้อสรุปและลงนามได้ภายในปีนี้ ทริสเรทติ้งจะติดตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานใหม่อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

รายได้เพิ่มขึ้นในธุรกิจสื่อโฆษณา

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกระแสเงินสดของธุรกิจสื่อโฆษณาจะปรับตัวดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ บริษัทดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) โดยกระแสเงินสดจากธุรกิจสื่อโฆษณามีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 ของแหล่งกระแสเงินสดทั้งหมดของบริษัท ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจสื่อโฆษณามีสัดส่วน 33% ของ EBITDA ทั้งหมดของบริษัท

บมจ. วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงเนื่องจากเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าและพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพียงรายเดียว โดยในอนาคต การขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจสื่อโฆษณาให้มากขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จะได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีใหม่ ๆ ของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังขยายธุรกิจไปสู่สื่อโฆษณานอกบ้านในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านการซื้อกิจการ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มฐานรายได้และยังผสานประโยชน์ทั้งในด้านการจัดจำหน่ายร่วมกันและการรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภคอีกด้วย ในปีงบประมาณ 2562 บริษัทได้ซื้อหุ้น 23.0% ของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และซื้อหุ้น 18.6% ของ บมจ. แพลน บี มีเดีย (PLANB) โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 10,500 ล้านบาท การลงทุนดังกล่าวใช้เงินทุนจากการแลกหุ้น เงินสดภายในบริษัท และการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นผ่านการแปลงสิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิ ในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ต่อปี

อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อ EBITDA จะปรับลดลงในอนาคต อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อ EBITDA จะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 63,479 ล้านบาท จาก 47,174 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากมีการลงทุนหลายโครงการ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อ EBITDA ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.0 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 จาก 5.2 เท่าในปีงบประมาณ 2561 โดยภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อ EBITDA จะค่อย ๆ ปรับลดลงเป็นระหว่าง 3.5-4.5 เท่าในปีงบประมาณ 2564-2565 โดยอัตราส่วนดังกล่าวที่ลดลงจะมาจาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้นและกรุงเทพมหานครจะชำระค่างานการจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือด้วย

บริษัทมีแผนจะกู้ยืมเงินจำนวนมากสำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูและสายสีเหลือง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมภาระหนี้ที่ใช้ลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นหนี้ของบริษัทเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนงานโยธารวมถึงเงินกู้สำหรับงานโยธาจะได้รับชำระคืนทั้งหมดจากภาครัฐ ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูและสายสีเหลืองนั้น ภาครัฐจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาพื้นที่และงานโยธา โดยเงินกู้ยืมสำหรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลยังเป็นลักษณะไม่มีสิทธิไล่เบี้ย (Non-recourse) อีกด้วย

อันดับเครดิตของบริษัทอยู่บนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าผู้บริหารของบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงิน โดยบริษัทมีนโยบายในการทยอย จำหน่ายเงินลงทุนอื่นเพื่อนำไปใช้ในการชำระหนี้และเพื่อรักษาสัดส่วนเงินกู้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 6,895 ล้านบาทและมีหลักทรัพย์เพื่อค้าและหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวน 20,720 ล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 28,085 ล้านบาทด้วย บริษัทมีภาระในการชำระหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 5,547 ล้านบาทและมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 21,138 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนภาระหนี้ระยะสั้นบางส่วน

ในปีงบประมาณ 2563 บริษัทมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวน 29,000 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากเงินกู้โครงการ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 3,861 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้สุทธิ (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 9.6% และ 4.7 เท่าตามลำดับ

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ในระยะ 12 ถึง 18 เดือนได้ ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.2 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ที่ 2.5 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระยะ 3 ปีข้างหน้าระหว่างปีงบประมาณ 2563-2565 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานดังต่อไปนี้

รายได้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,800 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 เป็น 6,500 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565

รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ต่อปี

บริษัทจะรับรู้รายได้ประมาณ 70,000 ล้านบาทจากงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตลอดจนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและรายได้จากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูและสายสีเหลือง

อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 30%

งบลงทุนรวมทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ 60,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาการเติบโตทั้งในด้านของรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ ส่วนเงินกู้รวมคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนในโครงการขนส่งมวลชนใหม่ ๆ ผ่านบริษัทย่อย อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อ EBITDA จะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 5 เท่าในปีงบประมาณ 2563

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2 ปีข้างหน้านั้นยังไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทยังคงมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับสูงขึ้นเกินกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลานานซึ่งอาจเป็นผลมาจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากหรือผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ