นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยในงานแถลงข่าวWลงทุนอย่างไร ในช่วงการเมืองคืบหน้า สงครามการค้าโลกคืบหลัง" ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้นยังคงแกว่งตัวในทิศทางปรับฐาน เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นหลักคือสงครามการค้าและการเมืองภายในประเทศ แต่มองว่าจะเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศลงทุนแค่ชั่วคราวเท่านั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะกลับมาฟื้นตัวรอบใหม่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้
สำหรับประเด็นความขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อออกไป แต่ยังเชื่อว่าน่าจะเริ่มมีสัญญาณผ่อนคลายขึ้น เนื่องจากหากยังเพิ่มมาตรการที่รุนแรง จะส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะยังเติบโตก็ตาม แต่สัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่า GDP พึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนสหรัฐฯแม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะยังแข็งแกร่ง แต่หากเพิ่มมาตรการทางภาษีอีก น่าจะกระทบกับธุรกิจและภาคผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคในสหรัฐอย่างแน่นอน ดังนั้น เชื่อว่าน่าจะเห็นการเจรจาภายใน 2-3 เดือนนี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมผู้นำกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเวที G20 ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้น ยังมองเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าการตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะมีเสียง ส.ส.ในสภาฯน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อาจมีความสุ่มเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนเฝ้าติดตามท่าทีการเปิดประชุมรัฐสภา ในสัปดาห์หน้าว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร โดยเฉพาะโฉมหน้าของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ หากเป็นรายชื่อที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ในระยะถัดไป
"วันนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้แพง เพียงแค่ขาดแรงจูงใจจากปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้นความเชื่อมั่นเท่านั้น ซึ่งหากสงครามการค้าและการเมืองในประเทศมีท่าทีผ่อนคลาย มองเป็นแค่ความกังวลระยะสั้น เชื่อว่าจะทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง ซึ่งระดับ 1,750 จุดก็ไม่น่าเป็นปัญหา ทุกวันนี้สภาพคล่องในตลาดโลกยังมีสูง เม็ดเงินส่วนใหญ่ไหลเข้าในตลาดพันธบัตรมากกว่าเพราะระวังความเสี่ยง แต่ถ้าความเชื่อมั่นเริ่มดีขึ้น ตลาดหุ้นไทยเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมีมูลค่าถูกสุดในอาเซียนและปันผลน่าสนใจหากเทียบกับดอกเบี้ยในปัจจุบัน" นายไพบูลย์ กล่าว
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ปัจจุบันฝ่ายวิจัยฯยังเฝ้าระมัดระวังกับปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าเป็นหลัก เพราะจะส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากเกิดผลกระทบบานปลาย อาจจะต้องปรับลดประมาณการดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ที่คาดอยู่ที่ 1,705 จุด อิง P/E 16 เท่า และรวมถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย
โดยฝ่ายวิจัยฯประเมินผลกระทบหากเศรษฐกิจจีนเกิดชะลอตัว ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากสมมติฐานเดิมที่คาดเฉลี่ย 65 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เนื่องจากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง โดยราคาน้ำมันโลกลดลงทุก ๆ 5 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จะกระทบกำไรกลุ่มพลังงานลดลง 1.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 1.50 บาท/หุ้น โดยประมาณการ EPS ปีนี้อยู่ที่ 106.58 บาท/หุ้น ขณะที่ถ้ามีผลกระทบส่งออกไทยลดลงทุกๆ 0.50% จะทำให้ประมาณการ GDP ลดลง 0.04% จากที่ปัจจุบันฝ่ายวิจัยฯประเมิน GDP ปีนี้ไว้ที่ 3.40%
ทั้งนี้ ในระยะสั้นการปรับฐานของตลาดหุ้นไทย เชื่อว่ายังไม่หลุดแนวรับ 1,580 จุด เนื่องจากเป็นระดับ P/E ที่ 15 เท่า มองว่าเป็นจุดที่น่าสนใจเข้าไปทยอยสะสมหุ้น แต่ระยะสั้นแนะหลีกเลี่ยงหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสะสมหุ้นที่อิงกับการฟื้นตัวบริโภคและลงทุนในประเทศเป็นหลัก
"ปัจจัยการเมืองในประเทศยังไม่น่ากังวลเท่าสงครามการค้า เพราะกระบวนการตั้งรัฐบาล เป็นไปตามกฎหมายที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่คาดเดายาก แต่นักลงทุนยังชอบความชัดเจน โดยนโยบายแต่พรรคเน้นกระตุ้นกำลังซื้อ โดยเฉพาะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้บางกลุ่มธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาเคยขึ้นค่าแรง แต่ถูกชดเชยด้วยลดภาษีนิติบุคคล แต่รอบนี้เป็นการขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว ทำให้กลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมากมีมาร์จิ้นต่ำคงได้รับผลกระทบแน่นอน"นายเทิดศักดิ์ กล่าว