นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมปี 62 ที่ระดับ 12,690 ล้านบาท หรือเติบโต 14% จากปีก่อน และคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้มากกว่าปีก่อนที่ระดับ 404.27 ล้านบาท
โดยที่ปัจจุบันมองว่ายังสามารถทำได้ตามเป้าหมายและมีโอกาสที่ยอดขายสามารถเติบโตได้เกินกว่าเป้า จากธุรกิจประกันภัยมีความผันผวนไม่มากและจะสามารถทำจุดสูงสุดได้ในไตรมาสที่ 4/62 ตามปัจจัยฤดูกาลและยอดขายรถยนต์ อาทิ โครงการลดหย่อนภาษี และการจัดงานมอเตอร์โชว์
ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1/62 ออกมาดีกว่าที่บริษัทคาดหวังเล็กน้อย โดยยอดขายเติบโต 9.5% อยู่ที่ 672 ล้านบาท ส่วนกำไรเติบโต 20.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเติบโตแบบ organic growth ของบริษัทยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตจากตลาดรถใหม่ อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ในส่วนอื่นยังเข้ามามีส่วนส่งเสริมผลประกอบการด้วย แม้ปัจจุบันยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก
นางนภัสนันท์ กล่าวว่า โดยปกติยอดขายเบี้ยประกันภัยในไตรมาส 1 จะเฉลี่ยอยู่ประมาณที่ 25% ของประมาณการยอดขายทั้งปี ปัจจุบันยอดขายประกันภัยนอนไลฟ์มีสัดส่วน 94% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่ยอดขายประกันชีวิตมีสัดส่วน 6%
ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1/62 อยู่ที่ 355.2 ล้านบาท มาจากการเตรียมความพร้อมในการบุกตลาดประกันชีวิตที่รับพนักงานเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยบริษัทมีการเพิ่มจำนวนพนักงานขายมาตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 4/61 ถึงต้นไตรมาสที่ 1/62 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการฝึกอบรม (traning) ทำให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าพนักงานขายจะสามารถสร้างการรับรู้รายได้ภายในไตรมาสที่ 2/62
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 จาก 48% เป็น 46% อย่างไรก็ตาม TQM ยังสามารถทำกำไรขั้นต้นเติบโตได้ 2.1% เมื่อเทียบกับรายได้ที่เติบโตขึ้นในช่วงเดียวกันของปี 61
นอกจากนี้แม้บริษัทมองว่าปัจจุบันประเด็นทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ แต่สินค้าประกันภัยมีความผันผวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยังใช้เป็นประจำ (routine) ซึ่งสัดส่วนการขายประกันชีวิตยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นด้วย
นางนภัสนันท์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังเน้นการจับมือร่วมกันพัฒนาธุรกิจกับบริษัทประกันภัย ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงใจและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพที่เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพในแต่ละช่วงอายุ หรือแบบประกันที่รองรับการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ประกันที่เจาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ครอบคลุมทุกประกันภัยไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันที่อยู่อาศัย
โดยบริษัทมีแผนที่จะร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจใหม่ด้วยการบริหารการดำเนินงานภายใต้โครงการสร้างปัจจุบัน อาทิ Financial Broker, ประกันชีวิต และ Insurance Shop ซึ่งจะต่อยอดไปถึงรายได้ใหม่และการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และส่งผลถึงการเติบโตและการทำกำไรที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าความร่วมมือกับพันธมิตรในการทำ Financial Broker จะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาสที่ 3/62 เพื่อขยายการทำธุรกิจของบริษัท
นอกจากนี้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งบนพื้นฐานของการขายทั้งออฟไลน์ผ่านพนักงานขาย และออนไลน์ผ่าน Chat Center รวมทั้งการบริหารต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และรวมไปถึงการสร้างรายได้จากเทคโนโลยีที่ได้ลงทุนไปมากว่า 4 ปี จึงเห็นว่ายอดขายมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนำ Big Data เข้ามาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเพื่อให้สามารถขายประกันและให้บริการได้ตรงใจ หรือ Chat Bot ที่ให้บริการลูกค้าได้เหมือนคนที่จะลดต้นทุนการบริการหลังการขายลงได้ รวมทั้งช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างและตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ซึ่ง TQM มีเพื่อนทุกแพล็ตฟอร์มออนไลน์อยู่กว่า 20 ล้านคน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและลดต้นทุนได้ในขณะเดียวกัน
สำหรับประเด็นราคาหุ้นที่มีความผันผวน นางนภัสนันท์ กล่าวว่า มาจากหุ้นของ TQM มีสภาพคล่องน้อย จากปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นรายย่อย (free float) เพียง 28% และมีสัดส่วนการถือหุ้นจากสถาบันราว 60-70% ซึ่งส่วนมากเป็นสถาบันประกันภัยที่เป็นคู่ค้าและพันธมิตรที่คาดว่าจะถือหุ้นในระยะยาว และสถาบันการลงทุนที่มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ