TTA คาด Q2/62 พลิกกำไร หลัง Q1/62 ขาดทุนสุทธิ 91.9 ลบ. หลังดัชนี BDI ปรับตัวดีขึ้น-ธุรกิจปุ๋ยมีกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 17, 2019 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในไตรมาส 2/62 หลังจากไตรมาส 1/62 มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 91.9 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจขนส่งทางเรือ ดัชนีบอลติค (BDI) ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาสามารถยืนเหนือระดับ 1,000 จุดได้ จากไตรมาสแรกปรับตัวลงไปที่ 795 จุด ขณะที่อัตราค่าระวางเรือก็ปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนพ.ค.นี้ อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ จากไตรมาส 1/62 อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยอยู่ที่ 9,024 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ ซึ่งสูงกว่าอัตราตลาดค่าระวางเรือซุปปราแมกซ์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 7,535 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ

ทั้งนี้มองความต้องการขนส่งสินค้าเทกองในปีนี้ยังคงเติบโต จากความต้องการถ่านหินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอินเดียที่มีความต้องการนำเข้าถ่านหินค่อนข้างมาก เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันจีนก็หันไปนำเข้าถั่วเหลืองจากประเทศบราซิล และอาร์เจนตินา แทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ หลังผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของทั้งสองประเทศดังกล่าวจะเริ่มต้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า แต่ก็ต้องรอดูว่าจะส่งผลดีมากน้อยเพียงใด

ส่วนสินค้าประเภท สินแร่ เหล็ก คาดว่าความต้องการน่าจะปรับตัวลดลงราว 1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโศกนาฎกรรมที่เหมืองแร่ Vale ที่ประเทศบราซิล, พายุไซโคลนเวโรนิกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลทำให้ไม่มีซัพพลาย

นอกจากนี้อัตราการเติบโตของกองเรือโลก คาดว่าปีนี้จะเติบโต 2.5% จากความต้องการจ้างเรือเพิ่มมากขึ้น หลังถูกจำกัดจากกฎระเบียบว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO2020) ทำให้อาจเกิดการลดจำนวนเรือลง เนื่องจากต้องนำเรือไปรีไซเคิลมากขึ้น และการใช้ระยเวลาการเดินเรือน้อยลง เพื่อลดค่ากำมะถัน ประกอบกับยังมีอัตราการปลดระวางเรือในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเรือประเภท Cape size หลังจากไม่มีซัพพลาย แต่อย่างไรก็ตามมองว่าเรือซุปปราแมกซ์ของ TTA ยังมีความสามารถในการขนส่งสินค้าได้ทุกประเภท และยังมีต้นทุนที่ต่ำที่สุดในโลก

ในปีนี้บริษัทฯ มีแผนซื้อเรือเข้ามาเพิ่มอีกจำนวน 1-2 ลำ ซึ่งเป็นเรือมือสองอายุเฉลี่ย 5-8 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 17-18 ล้านเหรียญสหรัฐ/ลำ หรือคิดเป็นจำนวน 500 ล้านบาท/ลำ จากปัจจุบันมีกองเรือทั้งสิ้น 21 ลำ มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,285 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 11.96 ปี

ด้านธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง คาดว่าอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือ (Utilization rate) ในไตรมาส 2/62 น่าจะปรับตัวสูงขึ้น จากไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 60% หลังจากที่ช่วงปลายเดือนมี.ค.62 นำเรือเข้าอู่เย็น เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่เรือขุดเจาะประเภท jack-up drilling rigs สเปคสูงจำนวน 3 ลำ ปัจจุบันมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือเฉลี่ยสูงถึง 100% และมีสัญญาระยะยาว 3 ปี โดยจะหมดอายุในปีนี้ 2 ลำ คาดว่าจะได้รับสิทธิ์การต่อสัญญาใหม่ไปอีก 3 ปี หรือจนถึงปี 65

พร้อมกันนี้ธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง ปัจจุบันมีงานที่อยู่ระหว่างรอส่งมอบ (Order book) อยู่ที่ 83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเกือบทั้งหมดในปีนี้ และอยู่ระหว่างรอเข้าประมูลงานเพิ่มเติมอีกกว่า 100 โปรเจค โดยคาดหวังจะได้รับงานเข้ามาบางส่วน

สำหรับธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ของบมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) คาดว่าในไตรมาส 2/62 จะพลิกมีกำไรสุทธิได้ จากไตรมาสแรกขาดทุน เนื่องจากเป็นช่วงของโลซีซั่นของธุรกิจ โดยมองราคาวัตถุดิบจะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกรให้หันมาใช้ปุ๋ยเชิงผสมมากขึ้น ทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้

นายเฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านกลุ่มการลงทุนอื่นๆ เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยร้านพิซซ่า ฮัท คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้น 140 สาขา และร้านทาโก้ เบลล์ (Taco Bell) ในประเทศไทย ก็ยังคงเป้าเปิดสาขาให้ครบ 40 สาขาในปี 65 จากปัจจุบันมีอยู่ 2 สาขา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ