นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงานก.ล.ต. ได้หารือร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในสาระสำคัญเรื่องความร่วมมือในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก คือ การปรับปรุงบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษและ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (MOU) ฉบับปี 48 เพื่อให้มีความทันสมัย และเข้ากับการกระทำผิดที่มีการเปลี่ยนแปลงไป คาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกความตกลงฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ (MOU) ได้ภายในเดือนมิ.ย.62
"MOU ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ เบื้องต้นก็ได้มีการหารือในส่วนของกระบวนการสอบสวน สืบสวนต่างๆ จะต้องมีเรื่องของดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การนำเอา AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบพฤติกรรมการกระทำความผิด เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน อีกทั้งยังได้ทาบทามนักวิทยาศาสตร์ด้าน DATA มาเป็นที่ปรึกษาของก.ล.ต. เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอยู่ภายใต้ความรวดเร็วของความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ และเทคโนโลยี"
ทั้งนี้ สำนักงานก.ล.ต.ได้มีการขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้ามาร่วมสืบสวน สอบสวน หรือร่วมทำคดีกับก.ล.ต.ตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการตามอำนาจของแต่ละฝ่าย รวมถึงได้มีการเชิญผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมเป็นที่ปรึกษาพิเศษ เพื่อเข้าไปดูในเรื่องของการรวบรวมหลักฐานให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ตอนต้นทาง ขณะเดียวกันเรื่องการเสริมสร้างประสิทธิภาพของบุคลากรการบังคับใช้กฎหมายของก.ล.ต. ที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็มีการร้องขอกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมากขึ้น ในการจัดอบรมหลักสูตร และการส่งบุคลากรเข้าร่วมหลักสูตร ทั้งการตรวจค้น กระบวนการที่มีความละเอียดอ่อน การรวมรวมหลักฐานต่างๆ ตลอดจนการป้องกันตัวเอง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการหารือการกำหนดเครื่องมือวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (KPI) ของก.ล.ต. เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในการบังคับกฎหมายให้ชัดเจน ซึ่งจะต้องสะท้อนหรือคล้ายคลึงกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ด้านพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางก.ล.ต.และกรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีการประสานงานร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ที่มีการหารือกันก็เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในการดำเนินคดี และต้องการให้หลักฐานต่าง ๆ มีความครบถ้วน เนื่องด้วยการสร้างราคาในหลักทรัพย์ก็มีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันไป ทางก.ล.ต.ก็ต้องการถอดบทเรียนของคดีเดิม ๆ ในการกระทำความผิดว่าใช้วิธีการแบบไหน เพื่อนำไปสู่การป้องกัน และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสืบสวน สอบสวน ขณะเดียวกันทางกรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีความต้องการให้ทางก.ล.ต. ที่มีการสืบสวนเบื้องต้นมีทักษะ ความชำนาญ และการเก็บหลักฐานในชั้นสืบสวนให้สามารถใช้เป็นหลักฐานในคดีได้ ซึ่งคาดว่าการร่วมมือกับทางก.ล.ต.จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการดำเนินคดีของก.ล.ต.อยู่ที่ 10 เรื่อง จากทั้งหมดที่มีการดำเนินการอยู่ราว 100 เรื่อง ซึ่งหากมีการปรับปรุง MOU ฉบับใหม่ ก็คาดว่าจะมีการดำเนินคดีได้รวดเร็วขึ้น เช่น คดีนี้จะมีการดำเนินคดีเป็นระยะเวลา 18 เดือน หากมีการแยกประเภทคดี ระดับของโทษ ก็อาจจะลดลงมาเหลือ 12 เดือนได้บางส่วน