บมจ.ซีฟโก้(SEAFCO)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"พร้อมขอเป็นซับคอนแทร็คเตอร์มีส่วนร่วมในงานสร้างรถไฟฟ้าทุกสาย หากบริษัทที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจชนะประมูล ระหว่างรอยังเดินหน้าหางานใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเพิ่ม backlog จากที่มีอยู่ขณะนี้ราว 1 พันล้านบาท ล่าสุดลุ้นงานรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์รู้ผลก.พ.นี้ เตรียมลงทุน 150-160 ล้านบาทสั่งซื้อรถจุดเจาะเพิ่มอีก 6 คัน ทยอยส่งมอบภายใน 2 ปี
นายณรงค์ ทัศนนิพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SEAFCO เชื่อว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 9 สาย ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทได้รับผลดีตามไปด้วย ส่วนบริษัทจะเข้าร่วมในทุกสายหรือไม่ ต้องรอดูว่าผู้ที่จะเข้าประมูลเป็นใคร หากเป็นพันธมิตรก็พร้อมจะร่วมเป็นผู้รับเหมาร่วมในงานที่มีความถนัด
ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ(backlog) ประมาณ 1 พันล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 600 ล้านบาท และที่เหลือรับรู้ปีหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเข้าไปรับงานเพิ่มเพื่อให้ Backlog เพิ่มขึ้น โดยอยู่ระหว่างรอผลงานรถไฟฟ้าที่ประเทศสิงคโปร์ คาดว่าจะสรุปเดือน ก.พ.นี้ และยังมีโครงการใหม่ในประเทศ 8 โครงการ มูลค่า 67 ล้านบาท ที่สามารถทยอยสร้างและรับรู้รายได้ทันที
นายณรงค์ กล่าวว่าต่อว่า สำหรับแผนงานในปีนี้บริษัทจะสั่งซื้อรถขุดเจาะเพิ่มจำนวน 6 คัน รวม 150-160 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบภายใน 2 ปี โดยเม็ดเงินลงทุนมาจากการกู้และเงินสดที่บริษัทเตรียมไว้รองรับอยู่แล้วปี 30-40 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไรปี 51 จะต้องรอดูภาพรวมและการกระตุ้นโครงการของภาครัฐว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่านโยบายของรัฐบาลล่าสุดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และเมื่อเห็นภาพชัดเจนแล้ว ภายในไตรมาส 1 จะสามารถกำหนดตัวเลขการเติบโตของบริษัทได้
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเชื่อว่าภาพรวมปี 51 จะดีกว่าปี 50 แน่นอน แม้ว่าปีนี้บริษัทอาจจะยังต้องเผชิญปัญหาราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะเหล็ก แต่อาจจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยราคาเหล็กปรับขึ้นมา 30 บาท/กก. ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเที่ยบกับ 3-4 เดือนก่อนหน้านี้ ราคาเหล็กอยู่ที่ 21-22 บาท/กก.ขณะที่ราคาคอนกรีตไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากนักเมื่อเทียบกับราคาเหล็กทำให้สามารถถัวเฉลี่ยกันไปได้
แต่จากปัญหาดังกล่าว บริษัทคงจะมีการปรับราคาเสาเข็มเจาะ โดยเฉพาะงานใหม่ แต่จะเป็นการทยอยปรับราคาเฉลี่ยตามต้นทุนที่เพิ่ม นอกจากนี้จะเลือกรับงานที่ชัดเจนและได้รับใบอนุญาตสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างแล้ว เพื่อไม่ให้การสต็อกสินค้ามีปัญหา
"สำหรับปี 50 ถือว่าเลวร้ายสำหรับเราทั้งในเรื่องของวัสดุที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 15% ทำให้ส่งผลต่อผลการดำเนินงานและยังโดนพิษเศรษฐกิจชะลอทำให้งานภาครัฐและเอกชนออกมาน้อย นอกจากนี้กฏหมายสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้วัสดุที่ล็อคเอาไว้ไม่สามารถทำได้ตามราคาและเวลาที่กำหนดไว้"นายณรงค์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/นิศารัตน์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--