GUNKUL บวก 2.26% โบรกฯเชียร์"ซื้อ"ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนมูลค่าโรงไฟฟ้า-กำไรธุรกิจ EPC ขาขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 23, 2019 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น GUNKUL ราคาขยับขึ้น 2.26% มาอยู่ที่ 2.72 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาท มูลค่าซื้อขาย 62.74 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.49 น. โดยเปิดตลาดที่ 2.66 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 2.74 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 2.66 บาท

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ด้วย 5 เหตุผล คือ 1.รับรู้รายได้และกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้าเต็มที่ในปี 62 เป็นปีแรก หนุนฐานกำไรยกระดับจาก 500-600 ล้านบาท/ปี เป็น 2,000 ล้านบาท 2.งาน EPC ในมือสูงกว่า 7,000 ล้านบาท แม้ผ่านไปเพียง 1 ไตรมาส งานรอประมูลอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท/ปี ช่วง 3- 5 ปีข้างหน้าหนุนกำไรเร่งตัวในครึ่งปีหลัง (H2/62) เป็นต้นไป 3. ฐานกำไรที่ยกระดับขึ้นเติมด้วยกำไรจากธุรกิจ EPC คาดกำไรทำระดับสูงสุดใหม่ไปอีกอย่างน้อย 3 ปี 4. ฐานะการเงินดีขึ้นตามลำดับ หลังผ่านช่วงลงทุน สู่ช่วงกอบโกย และ 5. ราคาหุ้นซื้อขายที่ PER 2562 ต่ำเพียง 10.6 เท่า ยังไม่สะท้อนมูลค่าโรงไฟฟ้าที่มีเต็มที่ และยังไม่สะท้อนกำไรธุรกิจ EPC ที่เป็นขาขึ้น

ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิปี 62 ที่ 2,231 ล้านบาท (New high) เติบโต 39.9% YoY แต่ EBITDA โตถึง 58.1% YoY เป็น 4,497 ล้านบาท ลดความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง และคาดว่าที่กำไรระดับ 2,000 ล้านบาท จะเป็นฐานกำไรปกติใหม่ของ GUNKUL จากนี้ไป จากเดิมที่อยู่เพียง 500-600 ล้านบาท/ปี เท่านั้น ที่ราคาปัจจุบันของ GUNKUL ซื้อขายที่ PER2562 ต่ำเพียง 10.6 เท่า โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 62 ด้วยวิธี SOTP ที่ 3.64 บาท เป็นมูลค่าจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ 3.46 บาท (DCF, WACC 5.5%) และจากธุรกิจ EPC และ ซื้อมา-ขายไป อีก 0.18 บาท (PER 12x) ที่ EPS ปี 62 ที่ 0.25 บาท เป็นจากธุรกิจโรงไฟฟ้า 0.23 บาท ราคาปัจจุบัน จึงสะท้อน PER โรงไฟฟ้าเพียง 11.6 เท่า เทียบกับ BGRIM ปัจจุบันสูงถึง 30.5 เท่า และยังไม่สะท้อนมูลค่าจากธุรกิจ EPC ที่เป็นขาขึ้น

GUNKUL เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า และธุรกิจซื้อมา-ขายไประบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าและโรงไฟฟ้า ทำให้รายได้และกำไรผันผวนไปตามงานโครงการที่ประมูลได้ในแต่ละปี กระทั่งเริ่มเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการโรงไฟฟ้าเองและเริ่มมีรายได้ในระดับที่มีนัยสำคัญในปี 59 จนมีรายได้จากโรงไฟฟ้าในสัดส่วนสูงสุดที่ 47% ในปี 61 หลังเริ่มมีรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานลม สำหรับรายได้ปี 62 โดยคาดที่ 8,214 ล้านบาท เติบโต 31.8% YoY โดยมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเป็น 51% จะช่วยลดความผันผวนตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป โดยปีนี้มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้ง 3 โรงขนาดรวม 170 MW สร้างรายได้เต็มปี และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเริ่ม COD ใหม่อีก 1 โรงใน 2Q62 เป็นต้นไป มีโครงการ Potential รอ COD อีก 2 โรงในญี่ปุ่นขนาดรวม 142MW และมีโครงการรอประมูลอีกจำนวนมากทั้งจากแผน PDP ใหม่ในประเทศ บริษัทคาดหวังโครงการ Solar Farm, Solar ลอยน้ำ, Solar ครัวเรือน และพลังงานลม นอกจากนี้ยังมีโครงการในต่างประเทศเช่นมาเลเซีย และเวียดนาม ที่เป็นความหวัง บริษัทตั้งเป้ากำลังการผลิตที่ 1,000 MW ภายในปีหน้า จากปัจจุบันที่ 400 MW


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ