นายวิทัย รัตนา เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา กบข. ได้มีการปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ โดยได้มีการปรับสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศลง 2% หรือมาอยู่ที่ 20% จากเดิมลงทุนในสัดส่วน 22% เนื่องจากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ยังคาดการณ์ทิศทางได้ค่อนข้างยาก ทำให้ในช่วงนี้กบข.ต้องระมัดระวังการลงทุน
ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังคงสัดส่วนการลงทุนไว้ที่ 7% จากปีก่อน โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยในระยะกลางมีความเสี่ยงขาลงจำกัด ซึ่งมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อยู่ อย่างไรก็ตามหากมีความผ่อนคลายสงครามการค้าฯ และการเมืองในประเทศ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจจะมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พอร์ตการลงทุน ณ วันที่ 3 พ.ค.62 แบ่งเป็น ตราสารทุน 21% ได้แก่ หุ้นไทย 7.3%, หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว 6.6%, หุ้นตลาดเกิดใหม่ 3.9%, Private Equity 3.1% และตราสารหนี้ 66% ได้แก่ ตราสารหนี้ภาครัฐไทย 23.9%, ตราสารหนี้ระยะสั้นไทย 19.4%, ตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย 19.2%, ตราสารหนี้อ้างอิงเงินเฟ้อ 1.5%, ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ 2.3% และอื่นๆ 13% ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ 8.2%, โครงสร้างพื้นฐาน 1.8%, Absolute Return Fund 2.9%
ขณะที่สิ้นปี 61 มีการลงทุนในตราสารหนี้ 68% แบ่งเป็น ตราสารหนี้ภาครัฐไทย 20%, ตราสารหนี้ระยะสั้นไทย 28.1% ,ตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย 17.2% ,ตราสารหนี้อ้างอิงเงินเฟ้อ 1.6%, ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ 0.8% และตราสารทุน 19% แบ่งเป็น หุ้นไทย 6.8%, หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว 6.1% ,หุ้นตลาดเกิดใหม่ 3.2%, Private Equity 2.9% และ อื่นๆ 13% แบ่งเป็น อสังหาริมทรัพย์ 8.5%, โครงสร้างพื้นฐาน 1.9%, Absolute Return Fund 3%
นอกจากนี้ สินทรัพย์การลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมามีผลตอบแทนแล้วที่ 3% และคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 5-6% ซึ่งยังคงเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 3-5 ปี อย่างต่อเนื่อง
นายวิทัย ยังกล่าวว่า กบข. ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เรียกว่า Environmental, Social, and Governance (ESG) หรือการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้งหมด 7 แห่ง, บริษัทประกันสังคม และบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น เพื่อร่วมสร้างหลักเกณฑ์การลงทุนใหม่ หรือหลักเกณฑ์ไม่ลงทุนในบริษัทที่มีปัญหา (Negative List Guideline) เช่น บริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล, บริษัทที่โดนก.ล.ต.กล่าวโทษ หรืออินไซต์เดอร์เทรดดิ้ง เป็นต้น คาดว่าจะเห็นการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในวันที่ 1 ต.ค.62
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป และจะใช้กับเหตุการณ์ในอนาคตเท่านั้น ไม่นับรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต
"Negative List Guideline จะเป็นเกณฑ์ที่บอกว่านอกจากบริษัทที่ทำความดีแล้ว ก็อาจจะมีบริษัทที่มีปัญหา หรือผู้บริหารมีปัญหาจากการทำผิดกฎหมายพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การปั่นหุ้น การเอากำไรเกินควร เราก็จะร่วมกับนักลงทุนสถาบันมาร่วมสร้างเกณฑ์ร่วมกัน ซึ่งจะใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยเบื้องต้นอาจจะมีการตกลงกันไม่ให้ซื้อหุ้นเหล่านั้นเป็น 3-6 เดือน หรือตามเวลาที่กำหนด จนกว่าปัญหานั้นจะถูกแก้ไขแล้ว ถึงจะกลับมาซื้อหุ้นได้ตามเดิม ซึ่งก็เป็นความพยายามของ กบข. ที่จะชักชวนนักลงทุนสถาบันเข้ามา โดยจากการพูดคุยกับนักลงทุนสถาบันดังกล่าว ก็ให้ความร่วมมือ และให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลในตลาดทุน"นายวิทัย กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการให้บริการ My GPF หลังจากเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบไปเมื่อมี.ค.62 มีสมาชิกเข้ามาใช้บริการสูงเกือบ 400,000 ครั้ง อีกทั้งยังใช้สิทธิรับสวัสดิการกว่า 40,000 ครั้ง นับเป็นปริมาณการใช้บริการสูงสุดตั้งแต่ กบข. เริ่มให้บริการสวัสดิการและสื่อสารในรูปแบบดิจิทัล และเพื่อเป็นการต่อยอดยุทธศาสตร์ Member Centric และ Pride of Members อย่างต่อเนื่อง กบข. จึงเปิด "ศูนย์ข้อมูลการเงิน" (Financial Assistant Center) ภายใต้แนวคิดการสร้าง กบข. ให้เป็นที่พึ่งของสมาชิกเมื่อต้องตัดสินใจทางการเงิน โดยศูนย์ฯ ประกอบด้วยบุคลากรที่ได้รับคุณวุฒินักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT จากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ทำให้มั่นใจว่าสามารถให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินและแนวทางการจัดการเงินได้เป็นอย่างดี บริการของศูนย์ฯ เป็นแบบส่วนบุคคล (Personalized Service) สมาชิกจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ตรงความสนใจ เช่น การวางแผนเกษียณ การลดหย่อนภาษี การจัดการหนี้ การเริ่มต้นลงทุน เป็นต้น ผ่านช่องทางหลากหลาย ทั้งการนัดหมายเพื่อติดต่อกลับทางโทรศัพท์ วิดีโอคอล (Live Chat) หรือนัดพบเจ้าหน้าที่ (One-on-One) หรืออีเมลสอบถามมาที่ fa@gpf.or.th
"ภารกิจดูแลสมาชิกของ กบข. ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงนำเงินสมาชิกไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลงอกเงย กบข. ยังควรใส่ใจในสุขภาพทางการเงิน (Financial Health) ของสมาชิก เพื่อให้สมาชิกเริ่มวางแผนบริหารเงินออมให้เร็วที่สุดก่อนเกษียณ ซึ่งนอกจากศูนย์บริการข้อมูลทางการเงินที่มาเติมเต็มภารกิจนี้ เสริมกับโครงการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณซึ่งเปิดให้บริการไปก่อนหน้าแล้วนั้น กบข. ยังมีอีกหลายโครงการที่พร้อมจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ เช่น โครงการที่ปรึกษาบริหารจัดการหนี้ที่ กบข. จะไปร่วมมือกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และโครงการจัดทำ Retirement Readiness Index เพื่อสร้างดัชนีความมั่นคงทางการเงินสำหรับสมาชิกได้เทียบวัดค่าความมั่นคงทางการเงินของตนเองเทียบเคียงกับเพื่อนข้าราชการสมาชิก กบข. อื่น"
โดยโครงการอื่นภายใต้ยุทธศาสตร์ Member Centric และเพื่อสร้าง Pride of Members ที่ต่างภารกิจจากช่วยสมาชิกบริหารสุขภาพทางการเงินนั้น ประกอบไปด้วย โครงการ Member-Adequacy Focused SAA, โครงการ Self-Mixed Choice เป็นต้น