ตลท.คาดงวดปี 50 กำไร บจ.ลดลง 13% จากงวดปี 49 คาดปรับตัวดีขึ้นในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 5, 2008 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ สายงานศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ปี 50 จะลดลงประมาณ 13% เมื่อเทียบกับปี 49 เท่ากับอัตราการลดลงของผลประกอบการในงวด 9 เดือนของปี 50 ที่บจ.เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ลดลง 13% คาดว่าทั้งปีน่าจะออกมาในอัตราเดียวกัน
ในปีที่ผ่านมา บจ.ต้องเจอกับภาวะต้นทุนสูงขึ้น จากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง แต่ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ที่เคยกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการจะนิ่งขึ้นในปีนี้ และไม่น่ากระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ทำไห้คาดว่าปีนี้กำไรของบจ.น่าจะดีกว่าปี 50 โดยจากการสำรวจของนักวิเคราะห์เองก็เห็นว่าจะเติบโต 20%
"กำไรปีนี้น่าจะดี เพราะต้นทุนจะเท่ากับปีก่อนโดยราคาน้ำมันคาดว่าไม่น่าจะเกิน 100 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราดอกเบี้ยก็ไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่ได้อยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจบูม ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็จะมี ธปท.ดูแลอยู่แล้ว แม้ว่าอาจจะไม่มีมาตรการกันสำรอง 30% ก็เชื่อ ธปท.จะดูแลเรื่องนี้ได้ เชื่อว่าต้นทุนจะนิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันไทยเริ่มกลับเข้าสู่การค้าปกติ ความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้นหนุนให้การส่งออกดี การบริโภคภายในประเทศก็จะกระเตื้องขึ้น ดังนั้นน่าจะนำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย กำไรก็จะเติบโตดี"นายวิเชฐ กล่าว
สำหรับกลุ่ม บจ.ที่จะมีกำไรโดดเด่น จะเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพราะจะได้รับผลดีจากโครงการเมกะโปรเจ็คต์ของรัฐบาลที่จะมีการปล่อยกู้มากขึ้น โดยจะเห็นว่าธนาคารขนาดใหญ่ อย่าง ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อระดมเงินฝากรองรับการปล่อยกู้ในอนาคตที่น่าจะขยายตัวสูงขึ้นตามโครงการลงทุน ขณะเดียวกันการตั้งสำรองไว้จำนวนมากในปีที่ผ่านมาจะสามารถนำกลับมาคิดเป็นรายได้ในปีนี้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ด้าน กำไรก็จะโดดเด่น จะเห็นว่าหุ้นกลุ่มธนาคารมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนมาก
นายวิเชฐ กล่าวถึงอัตราการจ่ายปันผลว่า แม้ว่าปีที่แล้วกำไรลดลง แต่เชื่อว่าอัตราการจ่ายปันผลคงไม่ลดลง โดยคงเป็นไปตามนโยบาย ขณะที่ปีนี้ก็เชื่อว่าไม่น่าจะแตกต่าง
สำหรับปัญหาซับไพร์ม นายวิเชฐ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงต่อ บจ.มีเพียงธนาคารบางแห่งที่ออกไปลงทุนในซับไพร์ม แต่ยังเป็นห่วงกรณีบจ.ที่ส่งออกไปอเมริกาและปรับตัวไม่ทันก็จะได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีการปรับตัวและกระจายการส่งออกไปยุโรป หรือภูมิภาคอื่นๆ แทนแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ