แหล่งข่าวจากธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 (Basel III-compliance Tier 2 subordinated notes) สกุลเงินบาท วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท และธนาคารมีสิทธิที่จะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิเพิ่มเติม (greenshoe option) ได้อีก 1 หมื่นล้านบาท มูลค่าต่อหน่วย 1,000 บาท ซึ่งเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวจะมีอายุ 10 ปี โดยจะเปิดให้นักลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่จองซื้อในช่วงวันที่ 20-27 มิ.ย.62 โดยจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้
TMB มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการออกและเสนอขายตราสารเงินกองทุนในครั้งนี้ไปใช้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 และเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก ตลอดจนถึงการใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินกิจการ โดยมี TMB และ ธนาคารธนชาต (TBANK) เป็นผู้จัดจำหน่าย
ทั้งนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'A+(tha)' แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว ซึ่งเป็นอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ซึ่งคืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB ที่ 'AA-(tha)' อยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิของหุ้นกู้และความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ
นอกจากนี้ หนึ่งในข้อกำหนดสิทธิที่สำคัญของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวคือเรื่องปัจจัยที่แสดงว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) โดยมีการกำหนดไว้ว่าธนาคารจะมีสถานะเป็นธนาคารที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้เมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินและเมื่อนั้นผู้ถือหุ้นกู้จะต้องรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้ (partial write-down) โดยไม่ได้เป็นการบังคับให้ตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นี้ จะมีลำดับในการได้รับชำระหนี้ก่อน (senior) ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่มีคุณสมบัติสามารถรองรับผลขาดทุนได้ (loss absorption features) ส่วนในกรณีที่มีเหตุการณ์ให้เกิดการตัดหนี้สูญ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นี้จะถูกตัดเป็นหนี้สูญในสัดส่วนที่เท่ากัน (pari passu) กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 และมีคุณสมบัติสามารถรองรับผลขาดทุนได้โดยการตัดเป็นหนี้สูญ ชุดอื่นๆ ที่ออกโดยธนาคาร
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว เนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารเอง ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าสถานะทางการเงินโดยรวมของธนาคารถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดสำหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารหนี้ของธนาคารจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่ธนาคารจะมีสถานะเป็นธนาคารที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viable) ทั้งนี้ฟิทช์ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงเพิ่มเติมจากอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงเนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption feature)
ฐานะทางการเงินของ TMB ซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (หรือ Viability Rating) สะท้อนถึงการที่ธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่มีขนาดปานกลาง โดย TMB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ในประเทศไทย ในด้านเงินฝาก คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5% ทั้งนี้ฐานะทางการเงินของ TMB ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและปรับเข้ามาใกล้เคียงมากขึ้นกับธนาคารขนาดใหญ่โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยฟิทช์คาดว่า TMB น่าจะรักษาฐานะทางการเงินของธนาคารให้มีเสถียรภาพได้ในระดับหนึ่ง แม้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคาร (risk appetite) จะมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) และกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.62 TMB และธนาคารธนชาต (TBANK) ได้ประกาศการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการรวมกิจการของทั้ง 2 ธนาคารเข้าด้วยกัน (merger) อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นและการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องยังมีไม่มากนัก ฟิทช์คาดว่าจะพิจารณาผลกระทบต่ออันดับเครดิต (rating action) เมื่อกระบวนการรวมกิจการเกิดขึ้นจริงและเมื่อแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเครดิต (credit profile) ของทั้ง 2 ธนาคารมีความชัดเจนมากขึ้น
ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB จะได้รับผลกระทบในในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร โดยอันดับความเข็งแกร่งทางการเงินของ TMB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญพร้อมทั้งมีอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (core financial metrics) ส่วนใหญ่ เช่น อัตราส่วนทางการเงินในด้านรายได้และเงินกองทุน ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องในระยะปานกลาง โดยที่ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกันอันดับความเข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับผลกระทบในทางลบถ้าผลการดำเนินงานและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญมีการปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับทั้งธนาคารในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ตัวอย่างเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการปรับตัวแย่ลงมากกว่าคาดการณ์ในสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน