นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้จากการขายปี 64 จะเติบโตราว 7% จาก 5.15 แสนล้านบาทในปี 61 หลังจาก 3 โครงการปิโตรเคมีใหม่ มูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านบาท ในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปลายปี 63 ซึ่งจะผลักดันให้กำลังการผลิตรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น
สำหรับ 3 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker มีกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน/ปี และ โพรพิลีน 250,000 ตัน/ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว ประมาณ 45% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในในเดือน ธ.ค.63 มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท
โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) ดำเนินการโดย บริษัท GC Oxirane จำกัด (GCO) โดย PTTGC ถือหุ้น 100% เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตัน/ปี ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโพลีออลส์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 56% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ก.ค. 63
โครงการโพลีออลส์ (Polyols) ดำเนินการโดย บริษัท GC Polyols จำกัด (GCP) โดย PTTGC ถือหุ้น 82.1% Sanyo Chemical 14.9 % และ Toyota Tsusho 3 % เพื่อผลิตโพลีเอเทอร์โพลีออลส์ (Polyether Polyols) 130,000 ตัน/ปี โพลิเมอร์โพลีออลส์ (Polymer Polyols) 30,000 ตัน/ปี และ พรีมิกซ์ (Premix)20,000 ตัน/ปี เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 60% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ส.ค. 63 โดยทั้งสองโครงการ PO/Polyols มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ที่ตลาดทั่วโลกเติบโตปีละ 7-10%
สำหรับผลิตภัณฑ์จากโพลีออลส์ สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สมรรถนะสูง ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง , กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ,กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ , กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน , กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า และกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน New S-Curve เพื่อตอบสนองต่อแนวทางส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่ลงทุนในพื้นที่ EEC
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ตามแผนระยะยาว (Long Term Strategic Execution) ของบริษัทเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมใน EEC ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางและมีสมรรถนะสูง (Performance Chemicals)
ส่วนรายได้ในปีนี้อาจจะลดลงจากปีก่อน หลังจากรายได้ในไตรมาส 1/62 ทำได้เพียง 1.13 แสนล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลง และยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากกรณีปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงซัพพลายที่ออกมามากขึ้นในตลาดโลก อีกทั้งในปีนี้บริษัทมีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงงานอะโรเมติกส์ในไตรมาส 2 และโรงกลั่นน้ำมันในไตรมาส 4 ด้วย
"รายได้ปีนี้อาจจะต่ำกว่าปีที่แล้วหน่อย จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงและเรามีหยุดซ่อมบำรุงด้วย...การลงทุนของเราในช่วงนี้เป็นลักษณะของ organic growth เราเล็งเห็นความสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นของประเทศด้วยการลงทุนด้านปิโตรเคมีในพื้นที่ EEC ตอนนี้ก็รวมๆเกือบ 1 แสนล้านบาทซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปี 63 ก็จะรับรู้เต็มที่ในปี 64"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการมองหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้หรือปีหน้า ขณะที่ความคืบหน้าโรงงานรีไซเคิล มูลค่า 2 พันล้านบาท ขนาด 4 หมื่นตัน/ปี คาดว่าจะสรุปพันธมิตรร่วมทุนจากยุโรปได้ในเดือนมิ.ย. โดยบริษัทจะถือหุ้นราว 70% ใช้เวลาก่อสร้าง 24 เดือน
สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทก็ยังให้ศึกษาการลงทุนต่อเนื่อง แต่การดำเนินงานต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในกลางปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความชัดเจนในเรื่องของพันธมิตรอย่าง Daelim Industrial Co.,Ltd. (DAELIM) จากเกาหลีแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องผู้รับเหมาและด้านการเงิน แม้ปัจจุบันตลาดยังมีความกังวลเรื่องสงครามการค้า แต่ก็เห็นว่าสหรัฐก็นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพการแข่งขันที่ที่สุดเช่นกัน