ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ระดับ "A"
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากข้อจำกัดในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการรายอื่น ตลอดจนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอของบริษัท และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรถไฟฟ้า ในขณะที่ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากภาระหนี้ของบริษัทที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแผนการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง กล่าวคือ บริษัทมีเกราะป้องกันจากความยากลำบากในการเข้าสู่ธุรกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากโอกาสที่ผู้ประกอบการรายอื่นจะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจหลักของบริษัท คือ ธุรกิจทางด่วนและธุรกิจรถไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องได้รับสัมปทานจากภาครัฐในการก่อสร้างเส้นทางเดินรถทั้ง 2 ประเภทและดำเนินกิจการ อีกทั้งยังจะต้องมีเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในการดำเนินโครงการตามแต่ละประเภทอีกด้วย
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทยังเป็นผลมาจากความสม่ำเสมอของรายได้จากธุรกิจทางด่วนและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรถไฟฟ้าซึ่งภาครัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นระบบอีกด้วย
กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ธุรกิจทางด่วนสร้างกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพให้แก่บริษัทจากการที่ที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ของทางด่วนขั้นที่ 2 ที่เชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 นั้นทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีและเป็นฐานกระแสเงินสดให้แก่บริษัท
ในช่วงระหว่างปี 2557-2561 ปริมาณจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.3% ต่อปี ในขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยเติบโตในอัตรา 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 1.24 ล้านเที่ยวต่อวัน และรายได้ค่าผ่านทางบนระบบทางด่วนเติบโตในอัตรา 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 28.25 ล้านบาทต่อวัน
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าทั้งปริมาณจราจรบนทางด่วนรายวันและรายได้ค่าผ่านทางบนระบบทางด่วนจะเติบโตประมาณ 1%-3% ต่อปีในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ว่าบริษัทจะได้รับการต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนต่อไป
มีโอกาสในการต่ออายุสัมปทานทางด่วน เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทได้มีมติเห็นชอบให้บริษัทและบริษัทย่อยตกลงยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยให้มีการขยายสัญญาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C (สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดในปี 2563) และ D (สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดในปี 2570) และสัญญาโครงการทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+ สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดในปี 2569) ออกไปจนถึงเดือนเมษายน 2593
สาระข้อตกลงในสัญญามีประเด็นครอบคลุมถึงเรื่องส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง การปรับราคาค่าผ่านทาง และการลงทุนเพิ่มเติม เช่น บริษัทจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ 40% สำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ในเขตเมือง และ 100% สำหรับทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนนอกเมืองและส่วน C+ โดยจะมีการปรับค่าผ่านทางทุก ๆ 10 ปีในอัตราที่ได้ระบุไว้ในสัญญา และบริษัทจะต้องลงทุนเป็นเงินจำนวน 3.15 หมื่นล้านบาทในการปรับปรุงทางด่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรโดยสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) จากด่านประชาชื่นถึงด่านอโศก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
การต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านกระแสเงินสดให้แก่บริษัทในระยะยาว แต่ในระยะสั้นถึงระยะปานกลางจะเป็นปัจจัยกดดันเรื่องภาระหนี้ให้แก่บริษัทเนื่องจากบริษัทต้องมีการลงทุนตามที่ระบุไว้ในสัญญา
อย่างไรก็ตาม อาจมีประเด็นความเสี่ยงเกิดขึ้นได้หากสัญญาดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ รายได้ของบริษัทจะลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันรายได้ประมาณ 40% และรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) ของบริษัทมาจากการให้บริการทางด่วนในเขตเมืองดังกล่าว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทยังต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่กระแสเงินสดจากธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโตจนสามารถชดเชยรายได้ที่หายไปจากธุรกิจทางด่วน
โอกาสในการเติบโตจากธุรกิจรถไฟฟ้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเติบโตของผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเป็นไปแบบก้าวกระโดดเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 ในส่วนของสถานีหัวลำโพง-หลักสองจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2562 และช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน-ท่าพระจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2563
ในปี 2561 อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของผู้โดยสารอยู่ที่ระดับ 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยจำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 311,538 เที่ยวต่อวัน ส่วนรายได้ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยต่อวันนั้นเพิ่มขึ้น 7.2% โดยอยู่ที่ 7.63 ล้านบาท ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 จำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.2% มาอยู่ที่ 316,439 เที่ยวต่อวัน และรายได้ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 4.3% อยู่ที่ 8.01 ล้านบาท
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารและรายได้ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7%-9% ในปี 2562 และจะเพิ่มขึ้นเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะอยู่ที่ 400,000-500,000 เที่ยวต่อวันในระหว่างปี 2563-2564 และรายได้ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่ 19-22 ล้านบาท
นอกจากนี้ การที่ภาครัฐมีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอีกด้วยเช่นกัน เนื่องจากบริษัทอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบที่จะชนะการประมูลโครงการภาครัฐหลาย ๆ โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และมีความพร้อมสูง นอกจากนี้ การที่เส้นทางเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีลักษณะเป็นวงแหวนก็จะเอื้อประโยชน์ในการรับผู้โดยสารต่อมาจากรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เพื่อป้อนให้แก่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วย
กระแสเงินสดแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตรากำไรที่อยู่ในระดับสูงของธุรกิจทางด่วนและรายได้ที่มากขึ้นจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหลังจากการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.0-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2564 อัตรากำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับ 43%-45% ในช่วงดังกล่าว และคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ 7.3-7.5 พันล้านบาทในปี 2562 และจะอยู่ที่ 9.7-10.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2564
ในปี 2561 บริษัทมีรายได้จำนวน 15.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2562 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.1% โดยอยู่ที่ 4 พันล้านบาท อัตรากำไรของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ส่วน EBITDA นั้นอยู่ที่ 8.4 พันล้านบาทในปี 2561 และ 2 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562
ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุน ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทถูกลดทอนด้วยภาระหนี้จากการลงทุนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจทางด่วนและธุรกิจรถไฟฟ้า ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินจำนวน 5.22 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมภาระหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทจากการลงทุนในระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงเนื่องจากภาระหนี้ดังกล่าวมีสัญญาการชำระคืนหนี้จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในระยะเวลา 10 ปีรองรับอยู่ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 6.1 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน)
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจากแนวโน้มการลงทุนในอีกหลายโครงการ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะต้องลงทุนประมาณ 7-8 พันล้านบาทต่อปีในปี 2562-2563 และประมาณ 1.0-1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและการก่อสร้างทางด่วน Double Deck โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ 6.5-7.5 เท่าในช่วงปี 2562-2564 ภาระหนี้ของบริษัทจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหากบริษัทชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจมีการปรับลดลงหากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ในระดับสูงกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่องยาวนาน
สภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีแหล่งสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 7-8 พันล้านบาท มีภาระทางการเงินที่ถึงกำหนดชำระรวมประมาณ 8 พันล้านบาท และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลอีกประมาณ 2 พันล้านบาท แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดหมายว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 5.5 พันล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ เดือนมีนาคม 2562 อีกจำนวน 1.9 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนใน บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่ายุติธรรมรวมอยู่ที่ 1.83 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 เพื่อเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินอีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.0-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2564
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับ 43%-45% ในระหว่างปี 2562-2564
บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 7-8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2563 และประมาณ 1.0-1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและจะมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากทั้งธุรกิจทางด่วนและธุรกิจรถไฟฟ้า ในขณะที่ภาระหนี้จะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดจากแผนการลงทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมากในระยะ 3 ปีข้างหน้าและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเงื่อนไขการต่ออายุสัมปทานทางด่วนในเขตเมือง ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงทั้งจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงหรือการลงทุนโดยการก่อหนี้ในระดับสูงจนทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่องยาวนาน