นายประกอบเกียรติ นินนาท กรรมการผู้จัดการ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ปรับลดเป้าหมายรายได้ปีนี้เหลือโต 8-9% จากเดิมที่คาดเติบโตได้ 9-10% รวมถึงปรับเป้าปริมาณการเติมน้ำมันเหลือโต 4% จากเดิมที่คาดเติบโต 4-5% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จำนวนเที่ยวบิน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงเชื่อมั่นต่อภาพการท่องเที่ยวของไทยที่จะมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มองแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/62 น่าจะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ PM2.5 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินลดลง แต่ในเดือนพ.ค.นี้ ก็เริ่มจำนวนเที่ยวบินปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังเตรียมบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่ได้กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้าง เลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน จำนวน 79 ล้านบาท คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับความคืบหน้าในโครงการท่อส่งน้ำมันแรงดันสูงของบริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) ภายใต้สนามบินสุวรรณภูมิ (Hydrant Phase 2) ปัจจุบันมีการก่อสร้างไปแล้ว 96% คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในปี 63 พร้อมกับการเปิดให้บริการเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ จากบางปะอินไปยังจ.พิจิตร และจากจ.พิจิตรไปจ.ลำปาง กำลังการผลิตรวม 9,000 ล้านลิตร/ปี ปัจจุบันได้เปิดดำเนินการในเฟสแรก (บางปะอินไปจ.พิจิตร) แล้วในเดือนมี.ค.62 โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,000 ล้านลิตร/ปี และมีการขนส่งไปแล้วทั้งสิ้น 75 ล้านลิตร คาดว่าจะมีรายได้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ราว 14 ล้านบาท ขณะที่ในเฟสที่ 2 (จ.พิจิตรไปจ.ลำปาง) ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 82% คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในเดือนพ.ย.62 และจะเริ่มขนส่งน้ำมันได้ในปี 63 อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 10 ปี
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโครงข่ายของท่อจากจ.พิจิตรเข้าไปยังเมืองมะละแหม่ง ประเทศเมียนมา และขยายท่อจากจ.ลำปางไปยังจ.เชียงใหม่ และเข้าไปยังประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนของกระทรวงพลังงานที่ต้องการยกระดับเป็นศูนย์กลางทางด้านพลังงานของประเทศอาเซียน โดยล่าสุดกระทรวงพลังงานก็ได้มอบหมายให้ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) และบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด ไปดำเนินการเชื่อมท่อทั้งสองบริษัทที่บริเวณตำบลเชียงรากน้อย ซึ่งการเชื่อมต่อดังกล่าวจะส่งเสริมให้โรงกลั่นน้ำมันของไทย สามารถขนส่งน้ำมันไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดอยู่
นายประกอบเกียรติ กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากทางภาครัฐ ในการกำหนด TOR ของโครงการจัดเก็บและเติมน้ำมันในสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าเปิด TOR ได้ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการขออนุมัติออกหุ้นกู้กับผู้ถือหุ้นไว้แล้วในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังว่าจะได้เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารจัดการในสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้
พร้อมกันนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษานำโครงการระบบท่อส่งน้ำมันสายเหนือ มูลค่า 10,000 ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหนี้เงินกู้จำนวน 8,550 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ของ BAFS จำนวน 2,250 ล้านบาท และวงเงินกู้ของ FPT จำนวน 6,300 ล้านบาท มีดอกเบี้ยอยู่ราว 4% ขณะเดียวกันก็มีความสนใจที่จะเปิดให้กองทุนเข้ามาใส่เงินลงทุน ซึ่งปัจจุบันก็มีกองทุนที่ให้ความสนใจ โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนในเอเชีย แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน