นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า หากการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้นจะเป็นแรงหนุนที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้เป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาดำเนินการอนุมัติการเดินหน้าลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆออกมา รวมไปถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะส่งผลต่อความต้องการใช้สินเชื่อให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยที่ธนาคารมองว่าแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นการเติบโตมากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก
โดยที่ในปี 62 ธนาคารยังคงรุกสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยในปี 62 เติบโต 9-10% ซึ่งธนาคารจะใช้ช่องทางดิจิทัลผ่าน K Plus เป็นตัวขับเคลื่อนช่องทางการปล่อยสินเชื่อรายย่อย โดยที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชี่อผ่าน K Plus ในปีนี้ที่ 5 พันล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท ภายในปี 64 ประกอบกับสินเชื่อบ้านในปีนี้ธนาคารจะมีการรุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นไปที่ลูกค้าเก่าที่มีประวัติการชำระกับธนาคารอยู่แล้ว หรือกลุ่มลูกค้าที่มีบัญชีกับธนาคาร เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารรู้ถึงความสามารถในการผ่อนชำระได้ ทำให้การปล่อยสินเชื่อมีความเสี่ยงน้อยลง โดยที่ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อบ้านในปีนี้เติบโต 5.8% ซึ่งตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท โดยไตรมาส 1/62 ปล่อยใหม่ไปแล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท และไตรมาส 2/62 คาดว่าจะปล่อยใหม่ได้ 1.5 หมื่นล้านบาท
ธนาคารยังมั่นใจว่าสินเชื่อรวมของธนาคารในปีนี้ยังคงทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 5-7% จากการเติบโตของสินเชื่อในครึ่งปีหลังที่ธนาคารคาดว่าเติบโตเพิ่มมากขึ้นมาช่วยผลักดัน แม้ว่าในไตรมาส 1/62 สินเชื่อรวมจะทรงตัว เพราะการส่งออกที่ยังไม่ค่อยดี จากผลกระทบของสงครามการค้า การจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว เพราะหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และภาคการท่องเที่ยวยังคงทรงตัว โดยที่คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานประเทศได้เร็ว จะช่วยเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะจะมีการผลักดันโครงการและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้ทันตามแผนของปีงบประมาณ พร้อมกับการจัดทำแผนปีงบประมาณใหม่ ซึ่งทำให้ประชาชนและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ด้านแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในไตรมาส 2/62 และช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะยังทรงตัวหรือใกล้เคียงกับไตรมาส 1/62 ที่ 3.44% โดยที่ธนาคารจะควบคุม NPL ในปีนี้ไว้ที่ไม่เกิน 3.7% ซึ่งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ NPL ในปีนี้มีทิศทางที่ลดลง หลังจากที่ NPL ปรับขึ้นไปจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี 61 ทำให้ธนาคารไม่กังวลกับสถานการณ์ของ NPL มากนักในปี 62 และการที่แนวโน้มของ NPL มีแนวโน้มทรงตัวและเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลต่อการตั้งสำรองฯของธนาคารที่ลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ธนาคารยังคงส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มโครงการ KATALYST เพื่อช่วยสตาร์ทอัพที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจขยายธุรกิจ และมีแนวทางการดำเนินธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ของธนาคารหรือลูกค้า พันธมิตรของธนาคาร เพื่อร่วมสร้างจุดเริ่มต้นที่ดีและช่วยยกระดับให้กับสตาร์ทอัพไทย โดยโครงการ KATALYST เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทที่พร้อมให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพในด้านต่าง ๆ อาทิ รูปแบบของการทำธุรกิจ การให้ความรู้และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ตลอดจนให้คำแนะนำในการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมกับหน่วยงานของธนาคาร บริษัทของธนาคาร พันธมิตรของธนาคาร และบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินลงทุน เพื่อให้วงการสตาร์ทอัพไทยเติบโตและประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันไทยมีสตาร์ทอัพกว่า 600 รายที่มาลงทะบียนกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มีสตาร์ทอัพที่มีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนในปี 60 จำนวน 31 ราย เป็นเงิน 106.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.35 พันล้านบาท และในปี 61 มีสตาร์ทอัพที่มีผู้ร่วมลงทุน 35 ราย เป็นเงิน 61.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1.93 พันล้านบาท จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ชะลอลง เนื่องจากสตาร์ทอัพไทยยังเติบโตไม่ทัน ซึ่งธนาคารหวังว่าโครงการ KATALYST จะเข้ามาช่วยพัฒนาและต่อยอดสตาร์ทอัพให้มีศักยภาพมากขึ้น สามารถดึงดูดเงินทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อยกระดับเป็นสตาร์ทอัพระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ต่อไปในอนาคต