บล.เออีซี (AEC) ระบุว่าทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ แกว่งในกรอบกว้าง ซึ่ได้รับปัจจัยบวก จาก MSCI นำ NVDR เข้ามาคำนวณในดัชนี MSCI EM Index ส่งผลให้มี Flow ต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทั้งจีนและสหรัฐฯส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินยังคงดี
ส่วนปัจจัยลบจากปัญหาสงครามทางการค้าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของ Bloomberg Consensus และจับตาประเด็นการเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนี ISH Markit PMI เดือน พ.ค. ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.5 ต่ำสุดในรอบ 10 ปีจากผลกระทบของสงครามทางการค้า อีกทั้ง สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากเม็กซิโกในอัตรา 5% โดยเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มิ.ย.เพื่อสกัดผู้อพยพผิดกฎหมายจากเม็กซิโกที่ข้ามพรมแดนเข้ามาในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลงสู่ระดับ 2.07% ต่ำสุดในรอบ 20 เดือน โดยต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือนที่อยู่ระดับ 2.35% ทำให้เกิด Inverted Yield Curve ส่งผลต่อสัญญาณภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยบวกจาก การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก Implied Prob. ช่วงอัตราดอกเบี้ย 2-2.25% ปรับเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดมากขึ้น
ดังนั้น มองระยะสั้นดัชนีแกว่งในกรอบ 1,600-1,630 แนะนำ กลยุทธ์ลงซื้อ-ขึ้นขายโดยกลุ่มหุ้นที่ยังมองว่าน่าลงทุน ได้แก่ 1 กลุ่ม Defensive และ 1 กลุ่ม Growth ได้แก่ กลุ่มหุ้นกระแสเงินสดแข็งแกร่ง ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นเราเลือกหุ้นที่มีความมั่นคงทางกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ได้แก่ กลุ่มพลังงานทางเลือก แนะนำ TPCH และ SSP นอกจากนี้มอง กลุ่มสาธารณูปโภค เป็น OASIS ยามเมื่อตลาดหุ้นไทยผันผวน เลือก TTW และ BAFS
สุดท้าย กลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คาดมีโอกาสเติบโตได้ดีจากอัตราการขยายตัวของพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการกู้ยืมเงินของกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังมีอยู่มากและได้รับผลบวกจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาควบคุมด้านกฏระเบียบอย่างเข้มงวดทำให้คาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในกลุ่มของผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบมากขึ้นแนะนำ SAWAD และ MTC