บล.คิงส์ฟอร์ด คาด SET เดือนมิ.ย.ผันผวนขาลงในกรอบ 1,580-1,660 จุด กังวลส่งออกส่อติดลบฉุดศก.ไทย-สงครามการค้ายืดเยื้อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 5, 2019 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คิงส์ฟอร์ด เปิดเผยว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย เดือนมิ.ย.62 ผันผวนแรงในทิศทางขาลงอยู่ในกรอบแนวรับ 1,580-1,600 จุด แนวต้าน 1,660 จุด เนื่องจากถูกกดดันจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่กลับมาขึ้นภาษีต่อกัน ขณะที่สหรัฐเตรียมกดดันจีนเพิ่มขึ้น โดยจะแบนสินค้าเทคโนโลยีจีน เช่น หัวเว่ย ในช่วงกลางส.ค.นี้ ดังนั้น จึงต้องจับตาการประชุม G20 ปลายเดือน มิ.ย.นี้ว่าจะมีการหารือยุติข้อพิพาทการค้าหรือไม่

ส่วนปัจจัยในประเทศเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยไตรมาส 1/62 ขยายตัวที่ระดับ 2.80% ส่งออกครึ่งปีแรกมีแนวโน้มติดลบ ส่งผลให้ทั้งปี GDP ไทยอาจขยายตัวต่ำกว่า 3.5% รวมทั้งปัจจัยทางการเมือง ยังคาดหวังจะได้นายกรัฐมนตรีใหม่ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุน จึงแนะนำให้ซื้อหุ้น BBL, CK, STEC, UNIQ, AMATA, WHA ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนหากได้รัฐบาลใหม่ และ CPALL, CPF, ADVANC, BGRIM ซึ่งเป็น Domestic Play และ Defensive Stock เพื่อลดความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในเดือนมิ.ย.นี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร "Accumulative Buy" หุ้นเด่นคือ BAY, TCAP เนื่องจากยอดสินเชื่อเดือนเม.ย.2562 ขยายตัวได้ช้า 0.22% จากเดือนก่อน และหดตัว 0.05% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแนวโน้มชะลอตัวลง เทียบกับปีก่อนโดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เช่น BBL ส่วนธนาคารที่มีสินเชื่อขยายตัวมากสุด ได้แก่ BAY, TCAP มีสินเชื่อขยายตัว 0.80% จากเดือนก่อน, ขยายตัว 0.53% จากเดือนก่อน ตามลำดับ และคาดกำไรไตรมาส 2/62 ของกลุ่มธนาคารจะอ่อนตัวลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนกลุ่มพลังงาน ให้น้ำหนักลงทุนเป็น"Neutral" Top pick คือหุ้น PTT, BANPU เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามแรงกดดันราคาน้ำมันมาจากการผลิตของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ดังนั้น คงน้ำหนักการลงทุน "เท่ากับตลาด" ประเมิน Upside จากราคาน้ำมันดิบค่อนข้างจำกัดติดตามการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในเดือน มิ.ย. กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก อาจกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ